ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จับตา 25-26 ก.ค. ระวังอุทกภัยระนอง พังงา ภูเก็ต ภาคเหนือ และอีสานในพื้นที่ประสบปัญหามาแล้ว เผยน้ำท่วมสกลนคร ศรีสะเกษ ยโสธร คลี่คลายแล้ว ส่วน จ.อุบลราชธานี ยังมีท่วมขังพื้นที่การเกษตร อ.นาเยีย วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สรุปสถานการณ์วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ในภาพทุกภาคของประเทศมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจาย ปริมาณฝนที่ตกสะสมในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดอุทกภัย และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักทุกภาค มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงมีบางพื้นที่อยู่ในเกณฑ์น้อย
ปริมาณน้ำในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำภาคใต้ ภาคกลางด้านตะวันตกอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์พอใช้ สำหรับภาคกลางอยู่ในเกณฑ์น้อย
ภาคเหนือ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจาย และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณ จ.ลำปาง สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำหลักต้นน้ำแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน มีแนวโน้มดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนแม่น้ำปิง และแม่น้ำวัง ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย
ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคบริโภคประมาณ 1,031 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ยกเว้นน้ำในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีน้ำน้อยอยู่ในเกณฑ์วิกฤต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจาย ส่วนใหญ่ทางตอนบนของภาค เนื่องจากปริมาณฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำท่วมขังใน จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ระดับน้ำลดลงในทุกพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร อ.นาเยีย อ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร
สำหรับ จ.สกลนคร ที่ อ.เมือง อ.โพนนาแก้ว อ.สว่างแดนดิน อ.พรรณานิคม อ.อากาศอำนวย จ.ศรีสะเกษ ที่ อ.โนนคูณ อ.เบญจลักษณ์ ระดับน้ำเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วน จ.ยโสธร ที่ อ.เมืองยโสธร สถานการณ์คลี่คลายแล้ว
สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำชี และน้ำมูลตลอดลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เว้นลุ่มน้ำมูล บริเวณปลายน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับลำน้ำด้านบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมาก ปริมาณน้ำแม่น้ำโขงบริเวณ จ.มุกดาหาร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปริมาณน้ำที่สามารถใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคบริโภคในเขื่อนหลักต้นน้ำมูลอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ส่วนเขื่อนในลุ่มน้ำชี อยู่ในเกณฑ์น้อย เฉลี่ยทั้ง 2 ลุ่มน้ำ มีปริมาณน้ำประมาณ 2,140 ล้านลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย ยกเว้นเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีน้ำน้อย อยู่ในเกณฑ์วิกฤต
ภาคกลาง มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่ สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย และมีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้สำหรับการเกษตร อุปโภคบริโภค 143 ล้านลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย ยกเว้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี มีน้ำน้อยอยู่ในเกณฑ์วิกฤต ส่วนเขื่อนด้านตะวันตก มีปริมาณ 3,309 ล้านลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี
ภาคตะวันออก มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำหลักส่วนต้นน้ำ และกลางน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำกักเก็บใช้ได้จริงเฉลี่ย 292 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย ยกเว้นเขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา มีน้ำน้อยอยู่ในเกณฑ์วิกฤต
ภาคใต้ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง และฝนตกหนักบางพื้นที่ สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยบางพื้นที่ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักขนาดใหญ่มี 3,234 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี
ฝั่งอ่าวไทย มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ และฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยบางพื้นที่
ฝั่งอันดามัน มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ และฝนตกหนักในบางพื้นที่ของ จ.ระนอง และ จ.พังงา สภาพน้ำท่าลุ่มน้ำหลักอยู่ในเกณฑ์น้อยบางพื้นที่
สำหรับแนวโน้มภาวะคุกคามที่ประชาชนพึงตระหนัก คือ เฝ้าระวังปริมาณฝนตกสะสม ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกลดลง และยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก คลื่นบริเวณทะเลอันดามันตอนบนสูงประมาณ 2 เมตร โดยวันที่ 25-26 กรกฎาคม ต้องเฝ้าระวังปริมาณฝนตกสะสม และอุทกภัยเฉพาะแห่งในภาคใต้ฝั่งตะวันตก บริเวณ จ.ระนอง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาอุทกภัยมาแล้ว