นครสวรรค์ - พบบึงบอระเพ็ดแหล่งน้ำจืดใหญ่ยังแล้งแม้ย่างเข้าหน้าฝนแล้ว ทำชาวนา 3 อำเภอรอบบึงเดือดร้อน ต้องขุดน้ำคลองใส่ทุ่งก่อนข้าวแห้งตาย ชลประทานรับระดับน้ำในเขื่อนใหญ่-ลำน้ำสายหลักยังต่ำ หากฝนน้อยหรือทิ้งช่วงอาจเดือดร้อน ขณะที่ทีมฝนหลวงยังขึ้นบินไม่หยุด
วันนี้ (20 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ช่วงนี้ จ.นครสวรรค์จะมีฝนตกต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ แต่แหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งยังคงแห้งขอด โดยเฉพาะบึงบอระเพ็ด บึงน้ำจืดขนาดใหญ่ระดับน้ำลดต่ำจนส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรรอบบึงทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.ชุมแสง และ อ.ท่าตะโก
ล่าสุด นายไพร มาดี ชาวนาหมู่ 3 ต.พนมเศษ อ.ท่าตะโก ต้องขุดร่องน้ำในคลองให้น้ำไหลมารวมกัน ก่อนที่จะสูบน้ำใส่นาข้าวที่กำลังจะแห้งตาย โดยนายไพรบอกว่า ขณะนี้นาข้าวใน ต.พนมเศษนับพันไร่ต้องถูกปล่อยทิ้งเสียหายเพราะเกิดปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ขณะที่ลำคลองสาขาที่เคยสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ดมาใช้เพื่อการทำนาไม่สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อนเนื่องจากน้ำในบึงบอระเพ็ดก็แห้งเช่นกัน
เบื้องต้นมีชาวนาหลายรายต้องทิ้งที่นาให้ว่างเปล่าเพราะไม่สามารถหาน้ำมาทำนาได้ ขณะที่การสูบน้ำครั้งนี้เป็นการสูบเพียงน้ำฝนที่มีอยู่ในลำคลองมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หลังจากนี้ถ้าฝนตกไม่มากพอนาข้าวก็จะเสียหายทั้งหมด
ด้านนายจีรศักดิ์ ทิพยวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด นายไกรรัตน์ เอี่ยมอำไพ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด นายมังกร จินดาหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด พร้อมทีมวิจัย เริ่มวางแผนลงดูระบบนิเวศภายในบึงที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
เบื้องต้นจากการลงดูพื้นที่พบว่าปริมาณน้ำในบึงแห้งลงกว่าปีก่อนเพราะฝนไม่เพียงพอ และเกษตรกรสูบน้ำใช้ในการทำนา ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปีก่อนๆ แต่ปีนี้แล้งหนักกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศที่เห็นได้ชัดคือ บัวแห้งตาย แต่จะกลับมาฟื้นได้ใหม่อีกครั้ง เพราะรากบัวกักเก็บอาหารและความชุ่มชื้นไว้ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะกลับมาเติบโตเหมือนเดิม
แต่ปัญหาคือ ผืนดินที่มาแทนพื้นน้ำกลายเป็นการขยายพื้นที่ของวัชพืชพวกไมยราพ ซึ่งขยายพันธุ์ได้เร็ว แต่เมื่อน้ำมาก็จะถอยกลับไปเช่นกัน
ขณะที่ น.ส.กุลธิดา อิทธิพร ผช.สถานีวิจัย กล่าวถึงผลกระทบต่อนกในบึงว่า ระดับความแล้งตอนนี้ถือว่ายังดี อย่ามากไปกว่านี้ เพราะนกที่อาศัยพื้นดินก็จะมีพื้นที่มากขึ้น และนกที่หากินในหนองน้ำก็ยังคงอยู่ ไม่ถือว่ากระทบมากนัก และช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น และแม้บึงจะแล้งแต่ก็ง่ายต่อการควบคุมดูแลนกไม่ให้ถูกล่า เพราะถ้าน้ำเต็มพื้นที่ นกก็ย้ายไปยังพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ทำให้ง่ายต่อการถูกจับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ายังคงแล้งต่อไปนานมากกว่านี้ หรือไม่เป็นไปตามระบบที่น้ำจะมาช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ปรับสภาพระบบนิเวศบึงบางจุด และรอดูสถานการณ์อยู่
นายสุรพล อจละนันท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ แจ้งว่า แม้จะมีฝนตกลงมายังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพียงแต่น้ำยังมีพอใช้ แต่ถ้าต่อไปฝนยังตกลงมาไม่มาก อาจส่งผลให้เสียหายได้ โดยตอนนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 4,026 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำเข้าวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ระบายออกวันละ 8 ล้าน ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ 3,204 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้ 359 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้า 15 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 14 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
ด้านเขื่อนแควน้อย 120 ล้าน ลบ.ม. ใช้ได้ 78 ล้าน ลบ.ม. ไหลเข้า 1.60 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 1.73 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่แม่น้ำน่านบริเวณเกยชัย น้ำไหลผ่าน 222 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำปิง ช่วง อ.บรรพตพิสัย 120 ลบ.ม.ต่อวินาที และแม่น้ำเจ้าพระยา 422 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปกติที่น้ำอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที
ด้านนายทวี กาญจนา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ซึ่งดูแล จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร ลพบุรี อุทัยธานี สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบูรณ์ ยังคงได้รับการร้องขอจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร เนื่องจากประสบภัยแล้งรุนแรง โดยสภาพอากาศขณะนี้เริ่มมีความเหมาะสมเอื้ออำนวยต่อการขึ้นบินทำฝนหลวง