ศรีสะเกษ - กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการบนพื้นที่การรถไฟ ร้อง “คสช.” ถูกนายทุนอิทธิพลฉ้อโกง เสียหายกว่า 100 ล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษหลังเก่า อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนกรณีถูกฉ้อโกงในการซื้ออาคารที่นายทุนสร้างขายให้พร้อมสิทธิการเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศ ประมาณ 20 คน นำโดย นางสาววิริญสิริ สะโสดา เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พ.อ.ณรงค์ กลิ่นวารี รองผู้บังคับกองกำลังรักษาความสงบประจำพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ หลังจากก่อนหน้านี้เคยไปร้องทุกข์ต่อนายสถานีรถไฟศรีสะเกษ และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
นางสาววิริญสิริเปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเดินทางมาร้องทุกข์ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ตรวจสอบนายทุนผู้มีอิทธิพลซึ่งได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่เส้นทางรถไฟ จ.นครราชสีมา-จ.อุบลราชธานี โดยพฤติกรรมของนายทุนคนนี้จะได้รับสิทธิการประมูลที่ของการรถไฟฯ เป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่ และทุกพื้นที่จะดำเนินการก่อสร้างแบบไม่ถูกตามกระบวนการ โดยมีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ บางรายร่วมมือทำเอกสารเท็จ
จากการกระทำดังกล่าว ส่งผลให้มีประชาชนที่มาซื้ออาคารบนที่ดินของการรถไฟฯ ได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 คูหา และได้รับความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท เช่น พวกตนได้ทำสัญญาเช่าซื้ออาคารมาตั้งแต่ปี 2547 โดยซื้อจากนายทุนที่ไปเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ มาสร้างอาคารขายให้พวกตน จำนวนทั้งสิ้น 15 ห้อง ห้องละ 1,200,000 บาท และพวกตนได้จ่ายเงินครบแล้วตั้งแต่ปี 2555
นางสาววิริญสิริกล่าวต่อว่า จากนั้นพวกตนได้ไปพบนายทุนเพื่อขอให้โอนสิทธิการเช่าให้กับพวกตนไปเช่ากับการรถไฟฯ โดยตรง แต่ปรากฏว่านายทุนได้บ่ายเบี่ยง พวกตนจึงได้ไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย และทราบข้อเท็จจริงว่านายทุนสร้างอาคารให้เช่าซื้อผิดแบบแปลน โดยได้รับอนุญาตให้สร้างเพียงแค่ 9 ห้อง แต่ไปสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาอีกเป็น 15 ห้อง ทำให้การรถไฟฯ ไม่สามารถให้พวกตนโอนสิทธิการเช่าไปเช่ากับการรถไฟฯ โดยตรงได้
ต่อมานายทุนได้มาเรียกเก็บเงินจากพวกตนอีกห้องละ 400,000 บาท โดยอ้างว่าถูกเรียกเงินค่าเช่าจากการรถไฟฯ จำนวน 5 ล้านบาทเศษ ให้พวกตนมาเฉลี่ยเงินกันจ่ายค่าเช่า แต่พวกตนไม่มีใครจ่าย และเมื่อไปตรวจสอบกับการรถไฟฯ จึงทราบว่านายทุนไม่จ่ายเงินค่าเช่าที่ดินให้กับการรถไฟฯ มาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้พวกตนไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าที่ดินไปเช่ากับการรถไฟฯ ได้
“พวกเราสงสัยว่า เพราะเหตุใดการรถไฟฯ จึงปล่อยให้นายทุนค้างค่าเช่าที่ดินมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้พวกเราได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของนายทุนคนนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น กลุ่มผู้ได้รับความเสียหายจึงเดินทางมาร้องทุกข์ต่อ คสช. เพื่อให้ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย” นางสาววิริญสิริกล่าว
ทางด้าน พ.อ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทำหนังสือแจ้งรายละเอียดเป็นรายบุคคล โดยให้นำส่งมาให้ตนในวันที่ 16 ก.ค.นี้ เพื่อจะได้นำเรื่องเสนอไปยังหน่วยเหนือเพื่อให้การช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป