xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสารคามร่วมงานบุญซำฮะ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากเมืองมุ่งสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหาสารคาม - ชาวมหาสารคามร่วมกันสืบสานประเพณีบุญซำฮะ หรือบุญเดือน 7 ของชาวอีสานเป็นปีที่ 2 ชำระกาย วาจาให้บริสุทธิ์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากเมือง สร้างความปรองดองสมานฉันท์

ที่บริเวณพระกันทรวิชัย ภายในที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นำพ่อค้าประชาชนชาวมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกันใส่ชุดขาวทำพิธีบุญซำฮะ หรือบุญเดือน 7 ของชาวอีสาน เพื่อชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากเมืองสร้างความปรองดองสมานฉันท์

ทั้งนี้ บุญซำฮะเป็นหนึ่งในประเพณีฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ ของชาวอีสาน ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ บุญซำฮะถือเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สิ่งสกปรก รกรุงรังออกจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทำร่างกายจิตใจให้สะอาด สดใส คำว่า “ซำฮะ” เป็นภาษาไทยอีสาน ตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า “ชำระ” หมายถึง ทำให้สะอาด ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล เมืองไพสาลี เกิดทุกขภิกขภัย (ฝนแล้ง) เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

พระพุทธเจ้าได้เสด็จฯ มาโปรด ทำให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักและชะล้างบ้านเมืองจนสะอาด ชาวบ้านได้รับการประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล และโรคภัยไข้เจ็บก็หมดสิ้นไปจากเมือง เรื่องราวดังกล่าวจึงทำให้เกิดการทำบุญซำอะ ซึ่งภาษาอีสานมาจากคำว่าชำระ คือ การทำให้สะอาด ปราศจากมลทินและสิ่งไม่ดี

ในเดือนเจ็ดชาวอีสานจะเก็บกวาดบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะของหมู่บ้าน เป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ในรอบปี มีการทำบุญตักบาตร ประพรมน้ำมนต์ให้แก่ครอบครัว ผูกแขนลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล และนำกรดทรายที่ผ่านพิธีเจริญพุทธมนต์แล้วไปหว่านรอบบริเวณบ้านและไร่นาเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล

อีกทั้งเพื่อเป็นการร่วมกันสร้างบุญกุศล ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย

สำหรับพิธีบุญซำฮะประกอบไปด้วยเป็นพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง จากนั้นช่วงเย็นจะมีการตรวจดวงชะตา พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม โดยพุทธศาสนิกชนจะต้องเตรียมหินกรวด ทราย น้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน มาร่วมพิธีดังกล่าวด้วย จากนั้นได้แห่ขบวนไปตามจุดต่างๆ 4 มุมเมืองเพื่อนำกระทงไปทำพิธีให้กับสัมภเวสีอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น