ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้บริหารในเครือข่ายพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคณบดี ผู้อำนวยการ และบุคลากรเกือบ 30 ส่วนงาน ผนึกกำลังสร้างโครงการ BUU 2020 : A Synergy towards Outstanding in ASEAN เร่งยกระดับการเรียนการสอน หวังสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาในอาเซียน
วันนี้ (21 มิ.ย.) กลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคณบดี ผู้อำนวยการ และบุคลากรส่วนงานต่างๆ เกือบ 30 ส่วนงาน ภายใต้การนำของ เภสัชกร รองศาสตราจารย์ ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย ประธานเครือข่ายฯ ได้จัดให้มีการประชุมพิเศษระดมสมองภายใต้ชื่อ “บูรพาร่วมใจก้าวหน้าสู่อาเซียน” ณ โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ทบางแสน โดยมีจุดประสงค์เพื่อร่วมประสานกำลังการพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ให้เป็นเลิศภายในปี ค.ศ.2020 ภายใต้โครงการ BUU 2020 : A Synergy towards Outstanding in ASEAN โดยมีคณบดี และผู้บริหารส่วนงานต่างๆ เข้าร่วม
แนวทางสำคัญของโครงการอยู่ที่การบูรณาการทุกกลุ่มสาขาวิชา จากคณะ วิทยาลัย และสำนักต่างๆ เกือบ 30 ส่วนงาน ทั้งสายวิทยาศาสตร์ สายเทคโนโลยี สายสังคมศาสตร์ สายแพทย์ และพยาบาล ซึ่งแต่ละคณะได้ส่งเสริมแนวทาง “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ” ด้วยรูปแบบการเสนอผลงานและแผนพัฒนาของสาขาวิชาต่างๆ
เช่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ขณะนี้ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยมีจุดประสงค์ที่การผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านภาษาไทย และสามารถเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบภาษาอังกฤษได้ เพื่อตอบรับความต้องการอาจารย์ที่มีความรู้ด้านภาษาไทยของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน ที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาภาษาไทยมากขึ้น
ส่วนการเรียนการสอนในคณะเภสัชศาสตร์ ปัจจุบันได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ เพื่อรองรับการเรียนการสอนในช่วงศตวรรษที่ 21 กล่าวคือ นักศึกษาสามารถเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ได้จากที่บ้านผ่านระบบไอที และสามารถนำข้อสงสัยมาแลกเปลี่ยนกับครูผู้สอน และเพื่อนในชั้นเรียนได้
เช่นเดียวกับคณะพยาบาลศาสตร์ ที่ขณะนี้ได้เปิดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อผลิตบุคลกรที่มีความรู้ความสามารถในระดับต่างๆ ซึ่งเปิดหลักสูตรการสอนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อป้อนตลาดแรงงานด้านพยาบาลทั้งใน และต่างประเทศ ที่กำลังต้องการพยาบาลที่มีการบริการในระดับมาตรฐานสากล และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้
ที่สำคัญยังเปิดให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาวิชาพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยบูรพา ยังได้จัดตั้งศูนย์อาชีวอนามัย เพื่อผลิตพยาบาลด้านอาชีวอนามัยป้อนตลาดในอาเซียนด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น คณะเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งเปิดการเรียนการสอนในวิทยาเขตจันทบุรี ยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยทางทะเล และศูนย์เพาะพันธุ์พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ และกุ้งขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และยังเป็นโรงเรียนสอน และผลิตนักดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยเช่นกัน
โดย ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดี คณะเทคโนโลยีทางทะเล กล่าวว่า ในอนาคตทะเลจะเป็นแหล่งทรัพยากรแหล่งสุดท้ายของโลกที่หลายประเทศมีความต้องการที่จะรักษา และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น มหาวิทยาลัยฯ จึงสร้างหน่วยผลิตสัตว์น้ำเพื่อการทดลองเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออก และในอนาคตยังจะขยายผลการปฏิบัติการเพื่อผลิตนักศึกษาที่สามารถต่อเรือ และตกแต่งเรือได้ เพื่อรองรับความต้องการนวัตกรรมทางทะเลที่สามารถตอบสนองความต้องการในพื้นที่ได้
ด้านสำนักงานพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ในวันนี้ก็มีผลงานที่ได้รับการยกย่องเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือผลิตโอโซนเทคโนโลยีสำหรับยืดอายุอาหาร และผลไม้ สำหรับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ประมง และผลไม้ตามฤดูกาลให้มีอายุมากขึ้น
ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้ก่อตั้งสำนักงานฯ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมในการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ หลังมีแนวโน้มว่าในอนาคตความต้องการด้านอาหารของคนทั้งโลกจะมีมากขึ้น จากจำนวนประชากรที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้กลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มในจังหวัดจันทบุรี ได้แจ้งความประสงค์ที่จะสนับสนุนทุนในการก่อตั้งโรงงานอบผลไม้ด้วยโอโซนเพื่อยืดอายุผลไม้ในพื้นที่แล้ว
โดยเภสัชกร รองศาสตราจารย์ ดร.สินธุ์ชัย แก้วกิติชัย ประธานเครือข่ายฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าแผนพัฒนาโครงการ BUU 2020 มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วนคือ 1.การมุ่งเน้นคุณภาพ 2.สร้างการเป็นเลิศในอาเซียน 3.สร้างศูนย์รวมความเป็นเลิศทางการศึกษาในอาเซียน และ 4.เป็นองค์กรอัจฉริยะทางการศึกษา