xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจอุบลฯ ยิงตัวตายหลังถูก คสช.เรียกรายงานตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ายสราวุฒิ ภูธรโยธิน อายุ 59 ปี ใช้ปืนยิงตัวตายในห้องนอน ชั้น 2 ของบ้าน
อุบลราชธานี - เจ้าของโรงสีเมืองอุบลฯ เครียดโรคประจำตัว ถูก คสช.เรียกตัวเพราะโพสต์เฟซบุ๊กต้านรัฐประหาร ยิงตัวตายคาห้องนอน อดีตถือเป็นดาวรุ่งด้านธุรกิจโรงสี และโรงพิมพ์ แต่ระยะหลังเศรษฐกิจย่ำแย่ต้องปิดหลายกิจการ ทำให้เครียดหนัก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (2 มิ.ย.) ร.ต.อ.อาธิศ นาโพธิ์วงษ์ พนักงานสอบสวน สภ.เมือง จ.อุบลราชธานี รับแจ้งมีคนใช้อาวุธปืนยิงตัวตายในอาคารพาณิชย์ชื่ออุบลกรุงไทยกลการ เลขที่ 74-78 ถนนอุปลีสาน ต.ในเมือง จึงไปที่เกิดเหตุพร้อมกับ พล.ต.ต.อภิชาติ เพชรประสิทธิ์ ผบก.ภ.จว.อุบลราชธานี พ.ต.อ.อภิศักดิ์ เดชะคำภู รอง ผบก. เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่กู้ภัยจีตัมเกาะ

ที่เกิดเหตุอยู่ในห้องนอนชั้น 2 ของอาคาร พบศพ นายสราวุฒิ ภูธรโยธิน อายุ 59 ปี เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ มือขวากำปืนพกขนาด .357 มีร่องรอยใช้อาวุธยิงตัวเองที่ศีรษะ 1 นัด

สอบถามนางวันเพ็ญ ภูธรโยธิน อายุ 57 ปี ภรรยาผู้ตายให้การว่า ก่อนเกิดเหตุตนเอง และคนงานทำงานอยู่ด้านล่างตามปกติ กระทั่งได้ยินเสียงดังคล้ายปืนหนึ่งนัดจากบนห้องนอนจึงได้ขึ้นไปดู ปรากฏห้องล็อกจากด้านใน เมื่อตะโกนเรียกสามีก็ไม่มีเสียงตอบรับ บุตรสาวเลยเรียกให้ช่างช่วยกันพังประตูเข้าไปก็พบสามีใช้อาวุธปืนของตัวเองยิงตัวตายไปแล้ว

สำหรับสาเหตุคาดว่าอาจเกิดจากความเครียดป่วยเป็นโรคประจำตัวหลายโรคมานานหลายปี และระยะหลังคนตายอยู่กับบ้านก็เล่นเฟซบุ๊กคุยในห้องพันทิพ มีการโพสต์ไม่เอารัฐประหาร แต่ตัวนายสราวุฒิ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทั้งสีแดง หรือสีเหลือง แต่เมื่อวานนี้มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 44/2557 เรียกตัวให้ไปรายงานตัวในลำดับที่ 15 วันที่ 3 มิ.ย.ทำให้เจ้าตัวเกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น

ข่าวแจ้งว่า สำหรับคนตายในอดีตถือเป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรงจากธุรกิจขายโรงสีข้าวขนาดกลางขนาดเล็กของจังหวัด พร้อมเปิดโรงพิมพ์ระบบออฟเซตรายแรกของจังหวัด เป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัญหาเศรษฐกิจต้องปิดธุรกิจโรงพิมพ์ เลิกทำหนังสือพิมพ์ และธุรกิจโรงสีก็ไม่ประสบความสำเร็จ มียอดขายตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ จนต้องเปิดรับงานแบบโรงกลึงทั่วไป และมีอาการป่วยด้วยโรคประจำตัวหลายโรค จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คิดสั้นดังกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น