ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชาวนาสันกำแพงเข้าคิวรับเงินจำนำข้าว พร้อมชูป้ายและมอบดอกไม้ขอบคุณ คสช.ช่วยเร่งรัดจนได้รับเงินที่ค้างจ่ายมานานกว่า 6 เดือน ขณะที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เชียงใหม่เผยเหลือค้างอีก 500 ล้านบาท คาดจ่ายหมดใน มิ.ย.นี้แน่นอน
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาสันกำแพง จ.เชียงใหม่ พล.ต.ศรายุธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 และนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานการทำสัญญา และจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 ให้เกษตรกรชาวนาใน อ.สันกำแพง ซึ่งได้รับเงินล่าช้ามานานกว่า 6 เดือน
โดยมีเกษตรกรนำเอกสารหลักฐานมาเข้าคิวเพื่อทำสัญญา และรับเงินตามลำดับประมาณ 200 ราย พร้อมทั้งมีการจัดทำป้ายแสดงความขอบคุณคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เร่งรัดจนได้รับเงินรับจำนำข้าว รวมทั้งมีการมอบดอกไม้ให้กำลังใจทหารด้วย
ทั้งนี้ พล.ต.ศรายุธกล่าวว่า ผู้บัญชาการทหารบกเข้าใจและเห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อปัญหา ที่ชาวนาได้รับความเดือดร้อนจากการไม่ได้รับเงินโครงการรับจำนำข้าวที่ค้างจ่ายมานานกว่า 6 เดือน จึงได้พยายามทำทุกทางเพื่อให้ได้รับเงินโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป
ขณะที่นายศักดิ์ชัย คำเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.เชียงใหม่ กล่าวว่า ล่าสุดยังเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวประมาณ 12,000 ราย เป็นเงิน 800 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้รับการจัดสรร 300 ล้านบาท ซึ่งจะมีการจัดสรรไปให้แต่ละสาขาจ่ายให้เกษตรกรตามลำดับคิว
สำหรับ ธ.ก.ส.สาขาสันกำแพงได้รับการจัดสรรรอบนี้ประมาณ 20 ล้านบาท จ่ายให้เกษตรกรประมาณ 300 ราย ซึ่งวันนี้ (28 พ.ค.) จะจ่ายเงินประมาณ 15 ล้านบาท และวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.) อีก 5 ล้านบาท โดยเงิน 300 ล้านบาทที่ได้รับการจัดสรรมาน่าจะจ่ายให้เกษตรกรหมดภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่เหลือประมาณ 500 ล้านบาทน่าจะได้รับจัดสรรและจ่ายให้หมดช่วงวันที่ 15-20 มิถุนายน หรืออย่างช้าที่สุดภายในสิ้นเดือนมิถุนายนแน่นอน
นางมาริษา ทาแดง ชาวนาสันกำแพง กล่าวว่า ดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับเงินจำนำเสียที ซึ่งขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ช่วยเร่งรัด โดยตนเองได้รับประมาณ 50,000 บาท ต้องนำไปใช้หนี้ รวมทั้งเป็นทุนซื้อเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยเพื่อเพาะปลูกต่อไป ซึ่งจะเหลือเงินใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับโครงการรับจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าวยังอยากให้มีอยู่ แต่ควรมีการบริหารจัดการที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากกว่าที่ผ่านมา