ตาก - หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอดเล็งจัดระเบียบค้าชายแดนใหม่ จ้องลดท่าเรือขนส่งสินค้าริมน้ำเมย เชื่อมแม่สอด-เมียวดี ที่เคยมีกว่า 20 จุดให้เหลือไม่เกิน 10 จุด ขณะที่ “เมียวดี” เริ่มขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว หลังทหารสั่งปิดท่า สกัดคนต้องสงสัยเข้า-ออก
พ.อ.เทอดศักดิ์ งามสนอง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายพงษ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดน 346 ฝ่ายความมั่นคง และด่านศุลกากรแม่สอด นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก และผู้แทนภาคเอกชน ที่ด่านศุลกากรแม่สอด เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.)
เพื่อหารือแนวทางกำหนดมาตรการการขนส่งสินค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด โดยเฉพาะบริเวณท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมย ทั้งหมดกว่า 20 แห่ง
พ.อ.เทอดศักดิ์ชี้แจงว่า ทหารจำเป็นต้องเข้มงวดกวดขันตามแนวชายแดนตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตอนนี้จะให้สินค้าส่งออกที่ตกค้างส่งไปให้หมดก่อน และจากนี้ไปจะวางมาตรการใหม่ ลดท่าขนส่งสินค้าตามท่าเรือต่างๆ ให้เหลือไม่เกิน 10 แห่ง และขอส่งเสริมให้สินค้าทั้งหมดไปออกบริเวณด่านพรมแดนไทย-พม่า หรือจุดผ่านแดนถาวร บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผบ.ฉก.ร.4 แม่สอดได้สั่งปิดท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมยทุกแห่งกว่า 20 จุดชั่วคราว และอนุญาตให้พ่อค้า-ผู้ประกอบการ และประชาชน ข้ามแดนได้ทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเพียงจุดเดียว ส่งผลให้ฝั่งเมียวดีเริ่มขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากฝั่งไทยเดือนละ 16 ล้านลิตร เป็นน้ำมันเบนซินประมาณ 9 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลประมาณ 7 ล้านลิตรแล้ว เนื่องจากการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น พม่าอนุญาตให้นำเข้าทางท่าเรือ และตามท่อเท่านั้น เมื่อมีการปิดท่าเรือทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกได้
นายสมศักดิ์ คะวีรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า เบื้องต้นทางภาคเอกชนได้มีการประชุมร่วมกับทหาร เพื่อขอให้ระบายสินค้าและน้ำมันเชื้อเพลิงส่งไปพม่าทางท่าเรือเป็นการชั่วคราว ซึ่งบางส่วนได้มีการระบายไปแล้ว ส่วนท่าเรือขนส่งสินค้านั้นจะขออนุญาตเปิดและปิดเป็นจุดเพื่อระบายสินค้า เพราะการส่งทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเริ่มแออัดมาก
“ภาคเอกชนขอให้ผ่อนปรนทางท่าเรือ ซึ่งอาจจะไม่เปิดทั้งหมด แต่ขอให้เปิดเป็นจุดๆ ตามท่าต่างๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเพื่อระบายสินค้าได้รวดเร็วขึ้น”