xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! พบ ร.ร.ซุกซอกตึกปากน้ำโพ-สอนอนุบาลยัน ป.6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครสวรรค์ - พบโรงเรียนขนาดเล็กซุกหลังซอกตึกกลางเมืองปากน้ำโพ เปิดสอนนักเรียนไทย-ลูกหลานแรงงานข้ามชาติทั้งพม่า-กะเหรี่ยง เผยทั้งโรงเรียนมีอาคารเรียนหลังเดียว แถมเริ่มผุพังหลังน้ำท่วมใหญ่ ของบซ่อมตั้งแต่ปี 54 ยังไม่ได้ จนครูต้องควักเงินกันเอง

วันนี้ (25 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าหลังตึกสูง ถ.สวรรค์วิถี ต.ปากน้ำโพ เขตเทศบาลเมืองนครสวรรค์ กลางตัวเมืองปากน้ำโพ จะมีโรงเรียนซุกอยู่บนพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีเด็กนักเรียนไทย และลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ชาวพม่าและกะเหรี่ยง เข้ามาเรียนกันทุกวัน

นายนิสิต ขจัดสังคโลก ครูใหญ่ของโรงเรียนดรุณศึกษา ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนแห่งนี้เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ผ่านมาถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2557 อายุของโรงเรียนเท่ากับ 55 ปี เมื่อเริ่มก่อตั้งโรงเรียนดรุณศึกษา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ถูกไล่ที่กระทั่งปัจจุบันมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ มีครูผู้สอนที่ได้รับการบรรจุแล้วจำนวน 6 คน และครูเกษียณอายุ 1 คน คือ นางวันเพ็ญ เสือยงค์ อายุ 75 ปี เป็นคุณครูผู้ดูแลในส่วนของเด็กอนุบาล

โรงเรียนดรุณศึกษามีนักเรียนทั้งหมด 35 คน เป็นนักเรียนระดับอนุบาลจำนวน 11 คน ประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 8 คน ประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 คน ประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 คน ประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 4 คน ประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 3 คน และประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 คน

นางวันเพ็ญ ครูเกษียณอายุ 75 ปี ที่ยังคงสอนเด็กๆ ในระดับชั้นอนุบาล กล่าวว่า ตนเองมีความรู้จากที่เรียนมา จึงไม่อยากจะหยุดสอนเด็ก แม้ปัจจุบันจะอายุมากแต่ก็ยังพอมีแรง สอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ โดยมีเด็กอนุบาลในความดูแลจำนวน 11 คน เป็นเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติเกินครึ่ง ยิ่งต้องใช้ความพยายามในการสอนมากกว่าสอนเด็กไทย เพราะพวกเขายังสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ บางครั้งต้องใช้ภาษามือ

“อนาคตไม่คิดที่จะเลิกสอนหนังสือ พร้อมยืนยันจะสอนเด็กๆ ไปกระทั่งไม่มีแรงที่จะสอน เพราะสงสารเด็กๆ ที่ทางบ้านมีฐานะยากจน และลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่มีโอกาสและสิทธิในการได้รับการเรียนหนังสือน้อยกว่าเด็กไทย”

สำหรับโรงเรียนดรุณศึกษา ได้รับเงินสนับสนุนของภาครัฐผ่านทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ได้ตามจำนวนของนักเรียน คือ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องนำไปจ่ายค่าอาหารที่โรงเรียนนี้ทำให้นักเรียนกินฟรี และแม้ว่า จะมีการเรียกเก็บค่าเทอมจากผู้ปกครอง แต่ก็เก็บเพียงเทอมละ 300 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เรียกเก็บไม่ได้ เพราะผู้ปกครองของเด็กประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ ไม่มีทั้งเงิน และไม่มีทั้งเวลาให้แก่เด็ก

ปัจจุบันอาคารเรียนของโรงเรียนแห่งนี้มีอยู่หลังเดียว และเริ่มผุพัง เนื่องจากประสบภัยน้ำท่วมสูงระดับเกือบ 2 เมตร ตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาครูต้องควักกระเป๋าเป็นงบซ่อมแซม เนื่องจากเคยยื่นเรื่องไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 ตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังไม่ได้รับงบซ่อมแซม จึงต้องใช้เงินส่วนตัวของครู และร่วมลงแรงกับนักเรียนที่ช่วยกันคนละไม้ละมือในการซ่อมแซมอาคารเรียนบางส่วนให้สามารถเรียนได้ แต่ไม่มั่นคงนัก







กำลังโหลดความคิดเห็น