ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- แพทย์ รพ.มหาราชโคราชเจ๋ง! สร้างรถพยาบาลฉุกเฉินสมบูรณ์แบบคันแรกของไทย ติดตั้งระบบ Telemedicine ส่งทั้งสัญญาณภาพและเสียง สัญญาณชีพแบบ Two way แพทย์สั่งการรักษาได้ทันทีก่อนถึง รพ. ลดการตายขณะนำส่งผู้ป่วย เผยคิดค้นโดยทีมนักวิจัยชาวไทยราคาถูกกว่านำเข้าต่างประเทศ 5 เท่า มอบให้ “มูลนิธิกู้ภัยสว่างเมตตา” ทดลองใช้แห่งแรก
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถานหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง ถ.โยธา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.สุนทร ชินประสาทศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และผู้อำนวยการศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายธวัชชัย วิมลวัตรเวที ประธานมูลนิธิสว่างเมตตาฯ และ นายสุเทพ นัฐกานต์กนก เหรัญญิกมูลนิธิสว่างเมตตาฯ ร่วมกันเปิดตัวรถพยาบาลฉุกเฉินสมบูรณ์แบบ Tele medicine หรือ Telegraft ใช้เป็นคันแรกของมูลนิธิกู้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคิดค้น และพัฒนาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ใช้ในทางการแพทย์ด้วยฝีมือคนไทย
นพ.สุนทร กล่าวว่า ทีมแพทย์กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกับนักวิจัยเอกชนพัฒนาTelemedicine มานานกว่า 1 ปี จึงสามารถนำมาใช้งานได้จริงในปีนี้ โดยที่ผ่านมา รถพยาบาลฉุกเฉินที่ออกรับผู้ป่วยจะมีการส่งแค่สัญญาณชีพ และเสียงมายังศูนย์ปฏิบัติการเท่านั้น การรักษาจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อมาถึงโรงพยาบาล และแพทย์ต้องหาดูอาการของคนป่วยก่อน
โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตในรถพยาบาลเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 คน เนื่องจากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที โดยเฉพาะผู้ป่วยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยความดัน เป็นต้น แต่หากมีการติดตั้งระบบ Telemedicine แล้ว ระบบจะส่งสัญญาณภาพและเสียงแบบ Two way และสัญญาณชีพ ไปยังศูนย์ปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เป็นแบบเรียลไทม์ แพทย์สามารถสอบถามอาการพูดคุยกับคนไข้ และเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนรถฉุกเฉินได้ทันที และเริ่มการรักษาได้ สามารถช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบ Telemedicine ในรถพยาบาลฉุกเฉินนั้นหากนำเครื่องเข้ามาจากต่างประเทศต้องใช้เงินมากถึงเครื่องละ 20-30 ล้านบาท แต่ Telemedicine ที่คิดค้นด้วยฝีมือคนไทยราคาประหยัดกว่า 5 เท่า ราคาอยู่ที่ประมาณ 3-5 ล้านบาท โดยศูนย์สั่งการจะมีระบบเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่รองรับ และส่งสัญญาณผ่านระบบ 3G ของทุกค่าย และระบบดาวเทียมเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุดหากต้องออกไปรับผู้ป่วยนอกเขตที่ไม่มีสัญญาณ 3G ส่วนอุปกรณ์ที่นำไปติดตั้งในรถพยาบาลฉุกเฉินจะมีจอคอมพิวเตอร์ 1 จอ กล้องวิดีโอประมาณ 4 ตัว ไมค์ และบล็อกสำหรับส่งสัญญาณ
นพ.สุนทร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้นำระบบดังกล่าวไปติดตั้งกับรถพยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ แต่เนื่องจากรถพยาบาลของโรงพยาบาลจะมีแพทย์ออกปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ฉะนั้นการติดต่อจึงเป็นการติดต่อระหว่างแพทย์มากกว่า
ส่วนของมูลนิธิกู้ภัยนั้น ทางโรงพยาบาลจะนำเครื่องมือดังกล่าวติดตั้งให้แก่รถพยาบาลฉุกเฉินมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถานหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการทดลองใช้ที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากรถพยาบาลของทางมูลนิธิฯ จะไม่มีแพทย์ออกปฏิบัติหน้าที่ร่วมด้วย ฉะนั้นระบบดังกล่าวจะใช้ได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ทีมงานยังได้พัฒนาให้ระบบดังกล่าวใช้ได้กับ ipad ด้วย หากแพทย์มีภารกิจอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในศูนย์สั่งการก็สามารถติดต่อ หรือดูภาพแบบเรียลไทม์ผ่านทาง ipad และสั่งการรักษาได้ทันที
“อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการทดลองระบบดังกล่าวเพื่อหาจุดเด่นจุดด้อยในการพัฒนาสู่เฟส 2 ซึ่งจะกระจายไปยังรถกู้ชีพฉุกเฉินของโรงพยาบาลชุมชนในเขตตัวเมืองใหญ่ของ จ.นครราชสีมา มูลนิธิกู้ภัยอื่น และตำรวจต่อไป” นพ.สุนทร กล่าว