มหาสารคาม - นิเทศศาสตร์ มมส. จัดสัมมนา “จริยธรรมสื่อในยุคดิจิตอล” ให้แก่สื่อมวลชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลให้สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำหน้าที่ตามปฏิญญาของวิชาชีพ ย้ำจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สื่ยึดมั่น เพราะเป็นเครื่องมือชี้วัดความเจริญของสังคม
ระหว่างวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ ที่โรงแรมเซนทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดโครงการสัมมนาสื่อ 19 จังหวัดภาคอีสาน หัวข้อจริยธรรมสื่อในยุคดิจิตอล โดยมีนายเสน่ห์ นนทะโชติ ปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีปิด วิทยากรประกอบด้วย รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และนายเจริญลักษณ์ เพชรประดับ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อีสานบิซวีค จ.ขอนแก่น
รศ.ดร สุจิน บุตรดีสุวรรณ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มมส.กล่าวว่า ช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา บนเส้นทางแห่งความขัดแย้งทางการเมือง การแข่งขันทางธุรกิจ การกำกับดูแลองค์สื่อตามกฎกติกาใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลให้สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำหน้าที่ตามปฏิญญาของวิชาชีพ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และสร้างความถูกต้องให้กับสังคม โดยยึดมั่นในจริยธรรม และการใช้สิทธิเสรีภาพด้วยความรับชอบ ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยอำนาจรัฐ และอำนาจทุน จนทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา
ทั้งนี้ “จริยธรรม” เป็นความประพฤติ การกระทำ และความคิดที่ถูกต้องดีงาม รวมถึงการทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เว้นในสิ่งที่ควรละเว้น ประกอบการ และดำรงชีวิตอย่างฉลาดด้วยสติและปัญญา รู้เหตุรู้ผล รู้กาลเทศะ กระทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบ เสียสละอุทิศตน มุ่งมั่นและบากบั่น ดังนั้น จริยธรรมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน ทุกสาขาอาชีพ เพราะเป็นเครื่องมือที่ชี้วัดความเจริญของสังคม และประเทศชาติได้
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกแขนง ต้องเข้าใจบทบาท และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ประเทศชาติ และประชาชนผู้รับสาร บนพื้นฐานของการใช้สิทธิเสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ จรรยาบรรณ และจริยธรรมในวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นสำคัญ
หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มมส. จึงได้จัดสัมมนาสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวข้อจริยธรรมสื่อในยุคดิจิตอลขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนา และส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาชีพสื่อของตนเองและพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศต่อไป และเป็นเวทีให้สื่อมวลชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ แสดงความคิดเห็นในประเด็นด้านจริยธรรมของสื่อในยุคดิจิตอล ทั้งในกลุ่มสื่อท้องถิ่นเอง ร่วมกับนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นต่อไป