ตราด - เอกอัครราชฑูตไทยกรุงพนมเปญติดตามความคืบหน้ายกจุดผ่านแดนถาวร และเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมด้าน จ.ตราด เผยเปิดที่บ้านท่าเส้นไม่เหมาะ ส่วน ศก.ร่วมตราดไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนักขัดยุทธศาสตร์
วันนี้ (1 พ.ค.57) ที่ห้องประชุมตราดสีทอง ศาลากลางจังหวัดตราด นายธัชชยุติ ภักดี เอกอัครราชฑูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และคณะเดินทางมาร่วมประชุมหารือกับนายพยัคฆพันธ์ โพธิ์แก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดูความคืบหน้าเรื่องการยกระดับจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านท่าเส้น ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด และเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา
โดยทางจังหวัดตราด ได้บรรยายสรุปในเรื่องการดำเนินการและความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 3 จังหวัดของกัมพูชา การเดินทางไปร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดโพธิสัต ผู้ว่าราชการจังหวัดพระตะบอง ในเรื่องการเปิดจุดผ่านแดนถาวร และการร่วมหารือกับทางจังหวัดเกาะกง ในเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมชายแดนจังหวัดตราดและจังหวัดเกาะกง
นายพยัคฆพันธ์ กล่าวว่า การยกระดับจุดผ่านแดนถาวรที่ทางรัฐบาลกัมพูชาต้องการให้มีการยกระดับที่บ้านท่าเส้นนั้นพื้นที่นี้ฝั่งไทยยังไม่มีความพร้อมทั้งในเรื่องถนน ปัญหาเรื่องเขตแดนที่มีการบุกรุกเข้ามาของชาวกัมพูชา
อีกทั้งสินค้าที่ทั้งสองจังหวัดที่มีการค้าขายยังมีน้อย ประชากรของโพธิสัตมีเพียง 3.3 แสนคนเมื่อเทียบกับ จังหวัดพระตะบอง ที่มีมากกว่า 1.2 ล้านคน และเส้นทางการเดินทางของจังหวัดตราดสู่พระตะบองมีเพียง 80 กิโลเมตร และเส้นทางสะดวก
รวมทั้งมีความพร้อมมากกว่าทั้งทางจังหวัดตราดที่มีเป้าหมายว่าจะยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านมะม่วงเป็นจุดผ่านแดนถาวรด้วย ส่วนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมนั้นทางจังหวัดตราดมียุทธศาสตร์ในการให้จังหวัดตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และไม่มีอุตสาหกรรมหนัก หากมีก็ควรเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรมากกว่า ทั้งนี้ทางสภาพัฒน์ฯได้เดินทางมาหารือกับจังหวัดตราดแล้วระดับหนึ่ง
ขณะที่นายธัชชยุติ กล่าวว่า ทางรัฐบาลกัมพูชาได้เร่งรัดในเรื่องความคืบหน้าว่าประเทศไทยมีความคืบหน้าในเรื่องการข้อบันทึกตกลงร่วมของ 2 รัฐบาลที่ต้องการจะให้ยกระดับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านท่าเส้น และเขตเศรษฐกิจร่วม ซึ่งทราบจากทางจังหวัดตราดแล้วพบว่ายังมีอุปสรรคในหลายเรื่องทั้งในเรื่องความพร้อมและความเหมาะสม นโยบายการพัฒนาของจังหวัดที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
แต่ในการดำเนินการทางรัฐบาลกัมพูชาเห็นชอบในประเด็นนี้และทางฝั่งกัมพูชาได้มีการดำเนินการไปแล้วเพื่อรองรับการเติบโตของประเทศและการเข้าเป็นเออีซี
ทั้งนี้ จะได้เดินทางไปที่พื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าและนำข้อมูลมาเสนอให้รัฐบาลกัมพูชาได้รับทราบต่อไป ส่วนจะมีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่นั้นต้องติดตามอีกครั้ง