มุกดาหาร - จเรตำรวจลงพื้นที่มุกดาหารมอบนโยบายป้องกันปราบปรามการลักลอบค้าไม้พะยูง เน้นให้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดเข้มตามแนวแม่น้ำโขงและดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมให้ ปปง.เข้ามาตรวจสอบยึดทรัพย์สิน เผยแค่ 6 เดือนแรกปีนี้จับแล้ว 124 คดี ไม้พะยูงอื้อ 11,179 ท่อน มากกว่าครึ่งปีที่ผ่านมาเท่าตัว รถอีกกว่า 200 คัน
วันนี้ (27 เม.ย.) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหารเพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง และลักลอบขนไม้พะยูงในพื้นที่ จ.มุกดาหาร หลังจากมีข่าวการลักลอบตัดไม้พะยูงและลักลอบขนไม้พะยูงในพื้นที่จังหวัดและเป็นทางผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง แม้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายป้องกันและปราบปรามอย่างเข้มข้นก็ตาม แต่ยังปรากฏมีการลักลอบตัดและขนย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
โดยได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปจาก พล.ต.ต.วิทวัส บูรณสมภพ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร นายภาสกร แพร่งสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) และนายฐิติกร เงาะปก เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน หัวหน้าหน่วยรักษาป่าที่ มห.4 (คำป่าหลาย) ถึงผลการปฏิบัติงาน ป้องกันและปราบปรามตั้งแต่ปี 2551-2557 การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งของกลางที่ตรวจยึดได้
พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติได้ให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับลักลอบตัดและขนไม้พะยูงโดยผิดกฎหมาย ให้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามมากยิ่งขึ้น โดยเน้นให้แต่ละโรงพักในอำเภอที่ติดชายแดนแม่น้ำโขงได้จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดมิให้มีการลำเลียงไม้พะยูงผิดกฎหมายลงสู่แม่น้ำโขงหรือผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่คาดว่ากลุ่มผู้ลักลอบขนไม้พะยูงใช้เป็นทางลงหรือทางผ่านในการขนไม้พะยูงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
พร้อมทั้งประสานการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้างเคียง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจน้ำ ทหารบก ทหารเรือ และด่านตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ โดยเฉพาะตลอดตามแนวแม่น้ำโขง ในการเฝ้าระวังป้องกันมิให้มีการลักลอบขนไม้พะยูงในพื้นที่ หรือเป็นทางผ่านอย่างเข้มข้น
ส่วนการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้นำกฎหมายที่มีบทลงโทษสูงสุด และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ภาษี พ.ร.บ.ฟอกเงินมาบังคับใช้กับผู้กระทำผิด และนำไปสู่การยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ เหมือนกับที่เคยนำมาใช้กับผู้กระทำผิดที่ จ.นครราชสีมา และ จ.อุบลราชธานี มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับไม้พะยูงผิดกฎหมายไม่เกรงกลัว เพราะจับแล้วต้องปล่อยและคดีที่ถูกลงโทษก็ไม่รุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับคดียาเสพติด แต่ให้ผลตอบแทนสูง จึงมีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันไม้พะยูงยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ จากรายงานการจับกุมผู้กระทำผิดและตรวจยึดไม้ของกลางพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นหากไม่ร่วมกันป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง อีกไม่นานไม้พะยูงอาจหมดไปจากผืนป่าในประเทศ และฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายห้ามไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้พะยูง เพราะถือเป็นการขัดนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และหากเข้าไปเกี่ยวข้องและถูกจับกุมจะถูกดำเนินการทั้งคดีอาญาและวินัยโดยเด็ดขาด
สำหรับผลการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเกี่ยวกับไม้พะยูงในพื้นที่ จ.มุกดาหาร ตั้งแต่ปี 2551-2557 มีจำนวน 528 คดี ของกลางไม้พะยูง ไม้กระยาเลย ไม้ชิงชัน ไม้สัก รวมจำนวน 29,232 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม คิดเป็นปริมาตร 1,297.79 ลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกของปี 2557 ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด 124 คดี ไม้พะยูงจำนวน 11,179 ท่อน/เหลี่ยม 140.83 ลูกบาศก์เมตร ไม้กระยาเลยจำนวน 1,432 ท่อน/เหลี่ยม 52.31 ลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงครึ่งปีที่ผ่านมากว่าเท่าตัว
หลังจากรับฟังบรรยายสรุปและตรวจดูไม้ของกลางและรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำผิดและตรวจยึดมาได้กว่า 200 คันแล้ว จเรตำรวจแห่งชาติได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางตามแนวชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงขนไม้พะยูงออกนอกประเทศระยะทางกว่า 72 กิโลเมตร เพื่อหาแนวทางการป้องกันการลักลอบขนไม้พะยูงออกนอกประเทศก่อนเดินทางกลับ