เพชรบุรี - กองทัพไทย ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวเตรียมแข่งขันกีฬาโดดร่มชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557 ครั้งที่ 47 ชิงถ้วยพระราชทาน ระหว่างวันที่ 23 เมษายน-2 พฤษภาคม 2557
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ห้องนภาลัย บี โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการจัดแข่งขันกีฬาโดดร่ม ครั้งที่ 47 และการแข่งขันกีฬาโดดร่มชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 23 เมษายน-2 พฤษภาคม 2557 นี้
ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พล.ต.ท.อรรถชัย เกิดมงคล ผบช.ตชด.ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน พล.ต.ต.อำนวย พวกสนิท ผบก.สอ.บช.ตชด. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน น.อ.สุทธิพงษ์ อนันตชัย ผล.กรม.ร.1 รอ.พล.นย. ผู้แทนกองทัพเรือ พ.ท.อนุสรณ์ เมฆานุวงค์ ผบ.กอง พธ.สกอ.ผู้แทนกองทัพบก น.อ.อภิชัย ศักดิ์สุภา นปก.กองทัพอากาศ รองประธานคณะอนุกรรมการแผนกโดดร่มเหินเวหา ผู้แทนกองทัพอาหาร และ พ.ท.เกษม วังตาล ผู้แทน บก.กองทัพไทย
พล.ต.ท.อรรถชัย เกิดมงคล ผบช.ตชด.ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน เปิดเผยว่า การแข่งขันกีฬาโดดร่มกองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งที่ 47 และชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน และเป็นประธานมอบถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และเหรียญรางวัลในพิธีปิดการแข่งขันด้วย ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557
สำหรับการแข่งขันกีฬาโดดร่มในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพบก และกรมตำรวจได้เริ่มฝึกจัดตั้งหน่วยพลร่มขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันในขั้นต้น หน่วยดังกล่าวได้ทำการฝึก และปฏิบัติการตามแบบฉบับของหน่วยส่งทางอากาศ เพื่อความมุ่งหมายของทางราชการ โดยใช้ร่มชูชีพแบบสายดึงประจำที่ ซึ่งร่มชูชีพจะกางด้วยสายกระตุกที่เกี่ยวไว้กับเครื่องบิน และทำการโดดในระยะสูงจากพื้นดินประมาณ 1,000 ฟุต เป็นเกณฑ์ปกติ ต่อมาร่มชูชีพมีการพัฒนาขึ้นเป็นแบบกระตุกเอง หรือเรียกโดยทั่วไปว่า แบบดิ่งพสุธา
ทั้งนี้ เพื่อความมุ่งหมายด้านการกีฬา และการใช้ทางทหาร ในการแทรกซึมเบื้องสูง หรือการส่งลงในเป้าหมายพื้นที่จำกัด โดยใช้ร่มชูชีพแบบผู้โดดเป็นผู้กระตุกร่มให้กางออกเอง โดดในระยะความสูง 3,500 ฟุตเป็นอย่างต่ำ และได้จัดขึ้นเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง เรียกว่ากีฬาโดดร่มเพื่อแข่งขันกันได้หลายแบบ หลายประเภทแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยในปัจจุบัน
ในขณะที่การโดดร่มแบบกระตุกเองเริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยนั้น ก็ได้มีการริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิการศึกษา “มิตรภาพ” ไทย-สหรัฐฯ ขึ้นเพื่อทำการหาทุนสร้างโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารขึ้นมา โดยอาศัยการแสดงการโดดร่มกระตุกเองในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยเป็นสื่อหลักในการรวบรวมทุนการกุศล เพื่อการศึกษาของเยาวชนของชาติ
ดังนั้น จึงมีนักโดดร่มสมัครใจเข้าร่วมมือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเหล่าทัพต่างๆ ทั้งในด้านกำลังพล และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น จึงทำให้กีฬาโดดร่มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ปัจจุบันที่ใช้ส่วนประเภทของการแข่งขันและรางวัลแบ่งออกเป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของสมาคมกีฬาทางอากาศฯ
การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และการแข่งขันกีฬากองทัพไทย ของกองบัญชาการกองทัพไทย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีทีมเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมจำนวน 10 ทีม และทีมอุปถัมภ์อีก 10 ทีม ขณะที่การเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย พล.ต..อรรถชัย เปิดเผยต่อว่า ทางผู้จัดการแข่งขันได้กำหนดให้มีการทดสอบเที่ยวบินก่อนการแข่งขันในวันที่ 21 เมษายน เพื่อทดสอบเครื่องบิน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขัน
จากนั้นในวันรุ่งขึ้นหลังนักกีฬาเข้ารายงานตัว จะมีการฝึกซ้อมเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะมีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดประวัติซ้ำรอยอย่างนักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจกระโดดร่วมดิ่งพสุธาร่างกระแทกพื้นเสียชีวิตอย่างแน่นอน