xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพระเทพ” ทรงเปิดมหิดลสิทธาคาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงเปิด “มหิดลสิทธาคาร” มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

วันนี้ (17 เม.ย.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเปิด “มหิดลสิทธาคาร” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาเฝ้ารับเสด็จ จากนั้นเสด็จฯ เข้าสู่ที่ประทับ ทอดพระเนตรวิดีทัศน์ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ เสด็จฯ ไปยังแท่นกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “มหิดลสิทธาคาร” ทอดพระเนตรนิทรรศการ ทรงวาดภาพมหิดลสิทธาคาร ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีจากวง Thailand Philharmonic Orchestra และทรงปลูกต้นจำปีสิรินธร

ทั้งนี้ มหิดลสิทธาคาร เป็นหอประชุมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารว่า “มหิดลสิทธาคาร” ซึ่งหมายถึงอาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรรม พระบรมราชชนก สภามหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีมติให้ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Hall” ซึ่งจะเป็นอาคารที่ใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น การแสดงละคร ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ประชุมสัมมนาทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ

การออกแบบหอประชุมมหิดลสิทธาคาร มีแนวคิดมาจากโครงสร้างเชิงกายภาพของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีรากฐานมาจากการแพทย์ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย และรูปทรง “ดอกกันภัยมหิดล” ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล โครงสร้างอาคารปราศจากเสากลาง หลังคามี 2 ชั้น ชั้นในใช้วัสดุพิเศษเพื่อป้องกันเสียงจากภายนอก ส่วนหลังคาชั้นนอกใช้วัสดุทองแดง ซึ่งในอีก 30 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนสีงดงามเหมือนหลังคาพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพื้นที่ใช้สอย 26,470 ตารางเมตร ภายในมี 2,016 ที่นั่ง

ระบบพิเศษของอาคารใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงละครจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นที่ปรึกษา จึงมีระบบเสียง แสง วิศวกรรมเวที และระบบอะคูสติก (Acoustic) ที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้งานประเภทต่างๆ โดยผู้ชมจะได้อรรถรสทางเสียงเหมือนกันทุกที่นั่ง นอกจากนี้ ระบบปรับอากาศภายในห้องประชุม ใช้การพ่นความเย็นจากพื้นใต้เก้าอี้ผู้ชม จึงไม่มีเสียงรบกวน และประหยัดพลังงาน เวทีมีความกว้างขวาง สามารถจัดตกแต่งเป็นที่ประทับในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้อย่างงดงาม และสมเกียรติ ซึ่งปี 2557 นี้ จะเป็นปีแรกที่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ แทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ 10 กรกฎาคม








กำลังโหลดความคิดเห็น