กาญจนบุรี - ปลาบึกและปลากดคังยักษ์ ในทะเลสาบเขื่อนศรีนครินทร์อาจโดนล่าฟรี! หลังทั้งอำเภอศรีสวัสดิ์และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มโยนความรับผิดชอบกันวุ่น ชี้อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมประมง ขณะที่ประมงจังหวัดกาญจนบุรีเงียบกริบ ไม่มีใครโผล่มาชี้แจงความจริง เผยที่มา "พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลา" หายากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์พบ 9 ตัวนำมาจากโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางประกง
วันนี้ (3 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีคณะนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งลงเล่นน้ำบริเวณท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่หมู่ 5 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และพบพรานกำลังล่าปลากลางทะเลสาบในเขื่อนศรีนครินทร์ โดยสามารถจับได้ทั้งปลาบึก และปลากดคังยักษ์ น้ำหนักตัวละประมาณ 80-100 กิโลกรัมมากกว่า 30 ตัว ต่อมานักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพนิ่งเก็บเอาไว้และนำไปโฟสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อประจานพฤติกรรมของพรานปลากลุ่มนี้ พร้อมกับได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ
นายเสรี คงอยู่ นายอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จากภาพในเฟสบุ๊ก ผู้ที่อยู่ในภาพเป็นชาวประมงในพื้นที่อำเภออศรีสวัสดิ์ ที่ได้มีการจับปลาบึกตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2548 ทางจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการประกาศห้ามล่าปลาบึกภายในช่วงระยะเวลา 3 ปีคือ ตั้งแต่ปี.2548- 2551 แต่ในขณะนี้ได้เลยระยะเวลาห้ามล่าปลาบึกมาแล้ว
อีกประการหนึ่งคือพื้นที่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์นั้น มีเขตรักษาพืชพันธุ์ 3 จุด คือ 1.บริเวณหน้าอำเภอศรีสวัสดิ์ หมู่ที่ 3 ตำบลด่านแม่แฉลบ บ้านแม่ละมุน หมู่ที่ 4 ตำบลด่านแม่แฉลบ และวัดวังผาแดง บ้านนาสวน หมู่ที่ 5 ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ ซึ่งได้กำหนดให้เป็นเขตห้ามเข้าไปจับสัตว์น้ำใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทราบว่าปลาบึกที่จับได้ดังกล่าวนั้นจับได้ที่หมู่ 8 บ้านหาดแตง ตำบลด่านแม่แฉลบ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตรักษาพืชพันธุ์ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคมถึง 15 กันยายน 2557 จะมีประกาศของกรมประมง ในเรื่องการห้ามจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่เพื่อสงวนรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ
"สำหรับภาพที่เห็นใน Social network นั้น ทางอำเภอศรีสวัสดิ์ ได้มีความเป็นห่วง เพราะเกรงว่าอาจจะทำให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาหายากสูญพันธ์ได้ ซึ่งผมจะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการในการป้องกันต่อไป" นายอำเภอศรีสวัสดิ์ กล่าว
ด้านนายฐิติ โสมภีร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ กล่าวว่า หลังจากที่ทราบข่าวว่ามีการลักลอบจับปลาหายากในทะเลสาบเขื่อนศรีนครินทร์ ตนจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สายตรวจประจำอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทรลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อมูลทันที
แต่จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่มีการจับปลาหายากนั้น อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ โดยมีกรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ และที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ก็ได้มีการออกลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่พบกลุ่มพรานปลาเข้ามาจับปลาในพื้นที่รับผิดชอบแต่อย่างใด
"แต่เพื่อความไม่ประมาท ผมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกนายเข้มงวดในการตรวจตราให้มากขึ้น และขอยืนยันว่าว่าหากเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด" นายฐิติ กล่าว
รายงานข่าวว่า ภายหลังจากที่หลายหน่วยงานได้โยนความรับผิดชอบไปให้กับกรมประมง ผู้สื่อข่าวจึงได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยังประมงจังหวัดกาญจนบุรี ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่มีอยู่ตลอดทั้งวันเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสายแม้แต่สายเดียวและจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของประมงจังหวัดกาญจนบุรีท่านใดออกมาชี้แจงในเรื่องนี้
อนึ่ง สำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของปลาบึก ที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ มีที่มาดังนี้
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2551 นายวินัย ถาวรนาน อดีตผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในขณะนั้นได้ร่วมกับนายสมยศ สุขเจริญ อดีตหัวหน้าประมงจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันปล่อยปลาบึก ที่ยึดคืนได้จากผู้ลักลอบจับปลาบึกได้ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2551
โดยทางเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ทำการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บของปลาบึกตัวดังกล่าวจนมีอาการแข็งแรงขึ้น ขณะนั้นปลาบึกมีความยาว 150 เซนติเมตร วัดรอบตัวได้ 122 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม ผ่านมาแล้ว 6 ปี หากปลาตัวนี้ยังไม่ตาย เชื่อว่า จะมีน้ำหนักและลำตัวใหญ่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2551 นายวินัย ถาวรนาน อดีตผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ และนางมณฑา เกตุทัต อดีตผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมปล่อยปลาบึกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 9 ตัว โดยปลาบึกทั้ง 9 ตัวนำมาจากโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางประกง ชุดที่ 5 ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ
เมื่อทำการสูบน้ำออกจึงพบว่ามีปลาบึกขนาดความยาว 1- 2 เมตร รวม 9 ตัว โดยได้ดำเนินการจับใส่ไว้ในบ่อชั่วคราว ทางโรงไฟฟ้าบางประกง จึงนำมาปล่อยที่เขื่อนศรีนครินทร์ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะให้ปลาบึกได้ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ จุดประสงค์เพื่อต้องการให้ปลาบึกทั้ง 9 ตัวได้ขยายพันธุ์ต่อไป
ต่อมาวันที่ 18 ธ.ค.2552 นายวีรชัย ไชยสระแก้ว อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ฝ่ายบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้นำผู้ปฏิบัติงานเขื่อนศรีนครินทร์กว่า 100 คนร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาบึกจำนวน 15,000 ตัวมาปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 82 พรรษา ที่บริเวณหาดทรายข้างขอบอ่างเก็บนำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทางเขื่อนศรีนครินทร์ต้องการที่จะทำโครงการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยเป็นการเพิ่มห่วงโซ่อาหารในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายากให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
เวลาผ่านมา 5 ปีเชื่อว่าปลาบึกทั้ง 15,000 ตัวที่ปล่อยลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ คงยังมีชีวิตรอดอยู่เป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าน้ำหนักและลำตัวคงใหญ่และหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน