ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านช้างทูนครึ่งร้อย รวมตัวชูป้ายประท้วงผู้ว่าฯ ตราด เร่งขับไล่ช้างป่าออกจากพื้นที่ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
วันนี้ (19 มี.ค.) ชาวบ้าน ต.ช้างทูน อ.บ่อไร่ จ.ตราด กว่า 50 คน รวมตัวที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อร้องทุกข์ต่อ น.ส.เบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่กำลังเข้าร่วมโครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และรับฟังความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่น
โดยนายเกษม มั่นคง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช้างทูน เรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งแก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกทำลายทรัพย์สิน พื้นที่เกษตร และทำร้ายชาวบ้าน ล่าสุด ยังได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่อทุยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว จนเสียชีวิต ทำให้ประชาชนไม่กล้าออกไปทำมาหากิน รวมทั้งเรียกร้องให้ทางจังหวัดจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของช้างป่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ ต.ช้างทูน แต่ยังรวมถึง ต.หนองบอน อ.บ่อไร่ และ ต.สะตอ อ.เขาสมิง
ทั้งนี้ นายวิรัช ยิ่งยง ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ สำนักงานป่าไม้ภาค 2 ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้งบประมาณแก้ปัญหาด้วยการนำช้างเกเร และช้างตกมันออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้รั้วปิดกั้น สร้างโป่งเทียม สร้างสิ่งกีดขวาง แต่ช้างได้เรียนรู้ และสามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ ทำให้ต้องการแก้ปัญหาใหม่ในแต่ละพื้นที่ ส่วนการจัดอบรบรมให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ในเรื่องช้าง และเฝ้าระวังช้างก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กำลังรับฟังการแก้ปัญหาช้างป่าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่นั้น ชาวบ้านที่รวมตัวกันถือป้ายข้อความประท้วง ได้ตะโกนเสียงดังเพื่อขอให้เร่งนำช้างออกจากพื้นที่ โดยไม่ฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าเสนอแนะแนวทางที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือ
นายสิระ กลั่นผล ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามการแก้ปัญหาของจังหวัด ซึ่งพบว่ายังคงไม่ถูกจุด จึงขอให้ทางจังหวัดชดเชยความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่
ด้านนางกาญจนา สีดี ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของช้างป่า บอกว่า ไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ในช่วงกลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงที่ช้างออกมาหากิน จนทำให้ขาดรายได้ ขณะที่ยังเป็นหนี้ ธ.ก.ส.หลายหมื่นบาท จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล
ขณะที่ น.ส.เบญจวรรณ ชี้แจงว่า จังหวัดได้ทำหนังสือถึงกรมอุทยานฯ แล้ว เพื่อให้เร่งส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแก้ปัญหา โดยที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ให้งบประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อสร้างโป่งเทียม และจัดชุดเฝ้าระวังแล้ว ส่วนการจ่ายค่าชดเชยต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม