ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองทัพรถอีแต๋น และอีแต๊กกว่า 1 พันคันของชาวนาภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางเคลื่อนตัวมุ่งหน้าเข้าพักค้างแรมที่ด่านเก็บเงินบางปะอิน นัดบุกพร้อมกันพรุ่งนี้ 21 ก.พ.นี้ ขณะที่ชาวนาดอกคำใต้ ยื่นเอกสารหลักฐานให้สภาทนายหาทางทวงเงินจำนำข้าว ด้าน "ชาวนาศรีสะเกษ"ช้ำหนัก ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวต้องออกขุดหาหอยเป็นอาหารประทังชีวิต ขณะที่ผู้ว่าฯ พิษณุโลก ยอมรับตรวจสอบโกดังพบข้าวมีเชื้อราจริง สั่งปูพรมตรวจอีก 68 คลังที่เหลือ
เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (20 ก.พ.) ขบวนรถอีแต๋น และอีแต๊ก พร้อมทั้งรถไถนา รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ของชาวนาภาคกลาง และภาคเหนือกว่า 1,000 คัน ได้เดินทางผ่านถนนสายเอเชีย จ.อ่างทอง ความยาวของขบวนเกือบ 5 กิโลเมตร การจราจรติดยาวกว่า 2 กิโลเมตร โดยตลอดทางมีชาวบ้านออกมาต้อนรับพร้อมปรบมือและโบกมือให้กำลังใจกลุ่มชาวนาตลอดเส้นทางหลังจากเมื่อคืนวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งหมดได้พักค้างแรมที่ จ.สิงห์บุรี และได้เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ในเช้าวันนี้
เมื่อเคลื่อนขบวนเข้าเขต จ.อ่างทอง ได้มีชาวนาในพื้นที่ จ.อ่างทองอีกกว่า 300 คนพร้อมด้วยรถอีแต๋น และอีแต๊กเข้าร่วมสมทบเดินทางมุ่งสู่ จ.พระนครศรีอยุธยาด้วย โดยทั้งหมดจะไปพักรับประทานอาหารที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนที่เคลื่อนพลมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทวงเงินค่ารับจำนำข้าวต่อรัฐบาล และร่วมกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงานช่วยเหลือชาวนาที่ยังไม่ได้เงินจากโครงการจำนำข้าว
เวลาประมาณ 14.00 น.ขบวนรถอีแต๋น และอีแต๊กทั้งหมด ได้เดินทางเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นได้จอดรถแวะพักรับประทานอาหารกลางวันที่หน่วยบริการประชาชนทางหลวงอยุธยา ริมถนนสายเอเชีย กม.17-18 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีการตั้งเต็นท์ ประกอบอาหารเพื่อรอรับมวลมหาชาวนา โดยระหว่างพักได้มีประชาชนมาบริจาคข้าวสารและอาหารให้กำลังใจตลอด
แกนนำชาวนาบอกว่า หลังจากหยุดพักรับประทานอาหารที่ จ.พระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็จะเดินทางต่อไป เบื้องต้นมี 2 เป้าหมายที่ชาวนาจะไปรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าจำนำข้าวจากรัฐบาลคือสนามบินสุวรรณภูมิ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งแกนนำจะมีการหารือกันอีกครั้ง แต่ยืนยันเป้าหมายของชาวนาคือสนามบินสุวรรณภูมิ
กองทัพอีแต๋น-อีแต๊กค้างแรมด่านบางปะอิน
ต่อมาเวลา 16.00 น.ขบวนรถอีแต๋น และอีแต๊กของชาวนาทั้งหมดกว่า 1,000 คันได้เคลื่อนขบวนออกจากหน่วยบริการประชาชนทางหลวงอยุธยา ริมถนนสายเอเชีย กม.17-18 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ โดยไปพักค้างแรมที่บริเวณด่านเก็บเงินบางปะอินเก่า ริมถนนสายเอเชียขาเข้ากรุงเทพฯ กม.4 อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเคลื่อนไหวต่อในวันนี้ (21 ก.พ.)
นายนพดล พลเสน อดีต ส.ส.อุทัยธานี หนึ่งในแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวนา กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้ตนพร้อมด้วยเกษตรกรชาวนาภาคกลาง ได้เดินทางมาทวงถามถึงเงินจำนำข้าวที่ทางรัฐบาลได้ค้างจ่ายให้กับเกษตรกร ส่วนจุดหมายปลายทางของการเดินทางของกลุ่มชาวนานั้น ขณะนี้ยังไม่ยืนยันและยังไม่มีมติแน่ชัดจากกลุ่มผู้ร่วมเดินทาง โดยจะมีการเคลื่อนขบวนและพักค้างคืนตามสถานที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อกดดันรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็วจนกว่าจะได้รับเงินจำนำข้าวจากรัฐบาล
"หากได้รับเงินแล้วตนเองและกลุ่มเกษตรกรชาวนาก็จะถอนตัวและเดินทางกลับทันที" นายนพดล กล่าว พร้อมกับย้ำว่า การเคลื่อนขบวนในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองของกำนันสุเทพฯ แต่อย่างใด จะขอเดินทางไปด้วยความสงบเรียบร้อยและจะไม่ก่อความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น
ชาวนาพะเยายื่นหนังสือร้องสภาทนาย
ขณะที่ชาวนาในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา กว่า 40 ราย ได้ทยอยนำเอกสารทั้งใบประทวน หลักฐานการจำนำข้าวกับทางรัฐบาล เข้ายื่นต่อสภาทนายความจังหวัดพะเยา เพื่อให้ดำเนินการติดตามช่วยเหลือ เรียกร้องในเรื่องเงินค่าจำนำข้าว เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงิน โดยชาวนาระบุว่า ที่นำเอกสารดังกล่าวมาให้กับสภาทนายความ เพื่อให้ช่วยดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ยังไม่สามารถจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนาจนถึงขณะนี้ได้
นายอภิเชษฐ์ วรรณโกฎิ ประธานสภาทนายความจังหวัดพะเยา ระบุว่า เป็นนโยบายของสภาทนายความแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวนาในเรื่องที่จะเป็นตัวแทนเรียกร้องค่าข้าวให้แก่พี่น้องเกษตรกรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตอนนี้ใน จ.พะเยา มีพี่น้องชาวนาเข้าทยอยเดินทางมารับการช่วยเหลือกว่า 100 รายแล้ว ซึ่งจะรับเรื่องเพื่อรวบรวมส่งส่วนกลางต่อไป
ชาวนาพิจิตรตั้งตารอเงินจำนำข้าวอีกกว่า 4 หมื่น
ที่ จ.พิจิตร นายขวัญชัย เกิดขันหมาก ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.พิจิตร เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องเงินที่รัฐบาลจะโอนมาเพื่อจ่ายเงินให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฤดูกาล 56/57 ว่า หลังสุดที่มีเงินโอนเข้ามาคือวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา จำนวน 235 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลโอนเงินจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนาทั้ง 12 อำเภอของพิจิตร 14 ครั้ง รวม 2,763 ล้านบาท จากยอดรวมทั้งสิ้น 9,300 กว่าล้านบาทเหลือที่จะต้องจ่ายให้ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินกว่า 4 หมื่นครอบครัวอีก 7 พันกว่าล้านบาท
"แต่ละครั้งที่มีเงินโอนเข้ามา แค่ชั่วโมงเดียวก็จ่ายหมดแล้ว" นายขวัชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ชาวนาพิจิตร ที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวกว่า 4 หมื่นครัวเรือนทั้งที่รอมานานร่วมๆ 5 เดือนแล้ว ทำให้บางส่วนได้เข้ากลุ่ม กปปส.พิจิตร, กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเสรีชนคนพิจิตร ที่นำโดยนายอาวุธ เดชอุปการ แกนนำชาวนาลุ่มน้ำยมของ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.วชิรบารมี หมุนเวียนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ร่วมชุมนุมทวงเงินจำนำข้าว และร่วมเวที กปปส.วันละประมาณ 2,000 คน โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกันไปอย่างต่อเนื่อง
นางสำเรือง จินพละ ชาวนาพิจิตร อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 34/6 หมู่4 ต.วังโมกข์ อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร เล่าว่า ตนเองทำนา 2 แปลงรวม 60 ไร่ มีหนี้สินกว่า 3 แสนบาท มีภาระเลี้ยงลูก 2 คน ต้องผ่อนค่ารถกระบะที่ซื้อมาเมื่อเดือนมีนาคม 56 เดือนละ 10,800 บาท จึงทำให้เครียดมาก เพราะส่งมอบข้าวจำนวน 25 ตันเข้าโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2556 เป็นเงิน 270,00 บาท นับถึงวันนี้ 5 เดือนแล้วยังไม่ได้เงิน กู้หนี้ยืมสินเพื่อนบ้าน และร้านค้ามาใช้จ่าย เป็นหนี้จนรอบหมู่บ้านแล้ว
"ล่าสุดก็ไปกู้เงินฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส.มาอีก 50,000 บาท จึงกลายเป็นหนี้แบบดินพอกหางหมูที่รอเงินจากรัฐบาลที่เอาข้าวเราไป แต่ไม่ยอมจ่ายเงิน"
ชาวนาศรีสะเกษขุดหาหอยประทังชีวิต
ที่ จ.ศรีสะเกษว่า ที่กลางทุ่งนาบ้านสบาย ต.รุ่งระวี อ.น้ำเกลี้ยง จ.ศรีสะเกษ นางไป่ สังขะพงษ์ อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 1 บ้านสบาย ต.รุ่งระวี นำลูกหลานและเพื่อนบ้านออกขุดหาหอย ทั้งหอยเชอรี่ และหอยขมซึ่งฝังตัวอยู่ในดินกลางทุ่งนา โดยการใช้เสียมขุดคุ้ยท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้งแล้ง แต่นางไป่กับลูกหลานก็ขุดหาหอยได้เป็นจำนวนมาก
นางไป่ กล่าวว่า ตนทำนา 15 ไร่ และเอาข้าวเปลือกไปจำนำ 80,000 บาท แต่ผ่านมานานหลายเดือนแล้วยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ทำให้พวกตนไม่มีเงินที่จะใช้หนี้ ธ.ก.ส.และใช้จ่ายภายในครอบครัว โดยเป็นหนี้ ธ.ก.ส. 80,000 บาท หากได้รับเงินค่าจำนำข้าวก็จะนำเอาไปใช้หนี้ จากนั้นก็จะกู้เงิน ธ.ก.ส.เป็นทุนทำนาในฤดูที่จะถึงนี้ และเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว
แต่เมื่อไม่ได้รับเงินค่าข้าวจากรัฐบาลทำให้พวกตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงได้พากันมาหาขุดหอยเพื่อนำเอาไปเป็นอาหารประทังชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น หากว่าวันใดโชคดีขุดหาหอยได้มากก็จะนำไปขายกิโลกรัมละ 20 บาท ได้วันละ 20-60 บาท พอได้ซื้ออาหารอื่นกินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จึงอยากขอให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวให้ชาวนาทุกคนโดยด่วนด้วย
ผู้ว่าฯพิษณุโลกรับข้าวมีเชื้อราจริง
ด้านนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยกรณีปลัดจังหวัดพิษณุโลกออกตรวจโกดังข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ที่โรงสีเกษตรไพศาลธัญกิจ จำกัด อ.วัดโบสถ์ แล้วพบกระสอบข้าวมีรอยด่างปรากฏเป็นเชื้อราเป็นจำนวนมากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ยอมรับว่าตนได้สั่งการให้ปลัดจังหวัดฯ ออกตรวจโกดังที่มีการระบายข้าวอย่างเข้มงวดเพื่อความโปร่งใส ซึ่งโกดังที่พบว่ามีกระสอบข้าวที่มีปัญหานั้นเป็นโกดังที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55
ดังนั้น เป็นไปได้ที่ข้าวที่เก็บในโกดังจะเสื่อมคุณภาพและมีเชื้อราขึ้นจริง ซึ่งหลังจากนี้จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจสอบโกดังในโครงการฯที่เหลืออีก 68 โกดัง เป็นการเร่งด่วนต่อไป
"ทางจังหวัดทำได้เพียงตรวจสอบปริมาณข้าวว่ายังเหลือครบตามจำนวนที่แจ้งไว้หรือไม่เท่านั้น ส่วนในเรื่องคุณภาพข้าว เป็นหน้าที่ของเจ้าของข้าว คือ อ.ต.ก. หรือ อคส. ที่ต้องดำเนินการ" นายระพี กล่าว
คลิกเพื่อชมคลิป 1
คลิกเพื่อชมคลิป 2
คลิกเพื่อชมคลิป 3