ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กฟภ.เขต 3 ภาคอีสานเดินหน้าสร้างฝายชะลอน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งให้ชาวบ้าน อ.คง โคราช เป็นแหล่งเก็บน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งตามโครงการ “53 ปี PEA สร้างฝายถวายในหลวง” ตั้งเป้าสร้างครบ 53 ฝายทั่วประเทศ
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่บริเวณฝายน้ำล้นบ้านตลุกม่วง ม.9 ต.หนองมะนาว อ.คง จ.นครราชสีมา นายอรรณพ อุดมเวช ผู้จัดการประจำการไฟฟ้าเขต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ และทำพิธีส่งมอบฝายชะลอน้ำ ตามโครงการ “53 ปี PEA สร้างฝาย ถวายในหลวง” ที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอคง ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประชาชนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างขึ้น
ทั้งนี้ มีผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอ และสาขาต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก
นายอรรณพ อุดมเวช ผู้จัดการประจำการไฟฟ้าเขต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โครงการ 53 ปี PEA สร้างฝาย ถวายในหลวง เป็นโครงการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ PEA ครบรอบปีที่ 53 และเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการดูแลรักษาน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำให้แก่ชุมชนทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 53 ฝาย ใช้งบประมาณในการก่อสร้างฝายละ 1 แสนบาท
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่ จ.นครราชสีมา, จ.ชัยภูมิ, จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์
สำหรับฝายชะลอน้ำบ้านตลุกม่วง ม.9 ต.หนองมะนาว อ.คง จ.นครราชสีมา แห่งนี้เป็นฝายชะลอน้ำแห่งที่ 4 ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ฝาย ที่ PEA ได้ดำเนินการร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยการก่อสร้างได้นำเอาเสาไฟฟ้าที่ชำรุด หรือหมดอายุมาใช้งานเป็นวัสดุส่วนหนึ่งในการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้ชุมชนได้ใช้อุปโภค บริโภค และประกอบอาชีพทางการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง PEA กับชุมชนให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน
สำหรับฝายชะลอน้ำแห่งนี้มีประชาชนได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรจำนวน 170 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรจำนวน 1,400 ไร่ และประชาชนในละแวกใกล้เคียงยังได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากการใช้สันฝายเป็นสะพานคมนาคมอีกทางหนึ่งด้วย