ประจวบคีรีขันธ์...รายงาน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ สนับสนุนกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล บ้านคลองวาฬ ตามพระราชดำริ พัฒนาสร้างรายได้ด้วยการแปรรูปปลานวลจันทร์ฯ ส่งขายร้านอาหาร โรงแรม เริ่มได้รับความสนใจ ทั้งปลานวลจันทร์แดดเดียว ปลานวลจันทร์หมักสูตรฟิลิปปินส์ สนนราคาอยู่ที่ตัวละ 100-150 บาท ขณะที่ศูนย์วิจัยฯ คาดหวังปีนี้ในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไปจะมีการปล่อยลูกปลานวลจันทร์ลงสู่ทะเลที่ประจวบฯ ชุมพร และสมุทรสาคร ราว 3 แสน-5 แสนตัว
วันนี้ ต้องยอมรับกันว่า...ปัจจุบันปลานวลจันทร์ทะเลในต่างประเทศมีการแปรรูปรับประทานกันอย่างแพร่หลาย และถือว่าเป็นปลาที่มีมูลค่าการตลาดที่สูงตัวหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยนั้นก็ต้องยอมรับว่าทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ได้พยายามเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ฯ มานานกว่า 20 ปี และประสบผลสำเร็จจนนำไปสู่การขยายพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงสร้างรายได้ทั้งในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันฑ์ ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และ จ.ระยอง
ซึ่งภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ มีพ่อและแม่พันธุ์กว่า 1,000 ตัวในปัจจุบันนี้ นอกจากนั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ ปลานวลจันทร์ทะเล ก็จะเริ่มวางไข่ และในช่วงตั้งแต่เมษายนเรื่อยไป ทางศูนย์ฯ เองก็มีแผนที่จะปล่อยลูกปลานวลจันทร์ ลงสู่ทะเลในในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสมุทรสาคร ราว 3 แสนถึง 5 แสนตัว แต่ปัญหาและอุปสรรคของปลานวลจันทร์ทะเล เป็นปลาที่มีก้างมาก ทำให้คนไทยเราไม่นิยมบริโภค
นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในเวลาต่อมา กองพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงได้หาวิธีเพื่อที่จะทำให้ปลานวลจันทร์ฯ นำไปสู่การพัฒนา-แปรรูปเพื่อสะดวกต่อการบริโภค และนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดฝึกอบรมการแปรรูปให้แก่เกษตรกรที่สนใจ เริ่มตั้งแต่การถอดก้างปลา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งปลานวลจันทร์ทะเลรมควัน ปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว ปลานวลจันทร์ทะเลก้างนิ่ม ปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ และปลานวลจันทร์ทะเลต้มเค็ม ปลานวลจันทร์ทะเลต้มหวาน โดย 2 ชนิดนี้ถูกบรรจุด้วยถ้วยพลาสติกใส สามารถนำไปอุ่น และบริโภคได้เลย
นายธเนศ กล่าวอีกว่า จนทำให้เมื่อกลางปี 2555 ที่ผ่านมา หลังจากเกษตรกรผ่านการฝึกอบรมเสร็จแล้ว จึงเกิดการรวมตัวตั้งกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล บ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ ขึ้นมาโดยมีทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งทะเลประจวบคีรีขันธ์ จัดงบประมาณสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ในการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล ทั้งหม้อต้ม ตู้แช่แข็ง ฯลฯ ซี่งมีนางนิออน พันธ์แก้ว เป็นประธานกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล บ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ
โดยการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระราชหฤทัย เมื่อปี 2508 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทอดพระเนตรปลานวลจันทร์ทะเลที่สถานีประมงคลองวาฬ (หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน) ดังปรากฏตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่ร่วมเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2544 ความตอนหนึ่งว่า
“ได้ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่คลองวาฬ ซึ่งมีสถานีประมงที่คลองวาฬเขาเลี้ยงปลาที่เป็นปลาทะเล เรียกว่า ปลานวลจันทร์ทะเล เขาจับปลานวลจันทร์เล็กๆ ที่อยู่ในทะเลเอามาขาย และสำหรับเลี้ยงในบ่อ ซึ่งถ้าเลี้ยงในบ่อน้ำมันจืดลง ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นก็เติบโตได้ เป็นอันว่า จะเป็นอาชีพสำหรับชาวบ้าน ไปซื้อมา เขาไม่ได้ซื้อ เราซื้อให้ ไปซื้อเอามาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ และเมื่อปล่อยแล้วมันก็เติบโต เติบโตดี ปีหนึ่งมันเติบโตมาขายได้เงินเป็นหลายแสน แต่ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจ จึงเลิก ปลานวลจันทร์ทะเลมันไม่ มันไม่เติบโต เอ้อมันไม่แพร่พันธุ์ในบ่อ ในอ่าง มันจะแพร่พันธุ์ได้แต่ในทะเล แต่ก็ยังไงก็จับได้และขายได้ ซึ่งถ้าสมมติว่า ไปซื้อมาแล้วมาปล่อยแล้วก็ดูแล และถึงเวลาก็ขาย ก็เป็นอาชีพที่ดี”
กรมประมงจึงได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาดำเนินการ โดยได้รวบรวมปลานวลจันทร์ทะเลมาเลี้ยงในบ่อดินเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลและอนุบาลลูกปลาได้ในปริมาณที่มากพอแก่การส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำไปเพาะเลี้ยงได้ และนำมาต่อยอดสู่การแปรรูปสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทาง
นางนิออน พันธ์แก้ว ประธานกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเล บ้านคลองวาฬ ตามแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ทุกวันนี้สมาชิกในกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ฯ จะอาศัยเวลาว่างจากการทำงานในปกติในช่วงเย็น มาทำการแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลฯ ชนิดต่างๆ เก็บเอาไว้ในตู้เย็น เพื่อส่งให้แก่ร้านอาหาร และผู้ที่สนใจ
โดยขั้นตอนสำคัญหลังจากที่ทางกลุ่มแปรรูปฯ สั่งวัตถุดิบ ปลานวลจันทร์ทะเลฯ จากบ่อเลี้ยงของเกษตรกร เข้ามายังที่ทำการของกลุ่มแปรรูปฯ แล้วก็ต้องเริ่มต้นด้วยการขอดเกล็ด เอกเหงือกออก ฟักไส้ และนำไปสู่การถอดก้างซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าต้องเป็นความสามารถเฉพาะตัวของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมมา ซึ่งแต่ละตัวมีก้างมากกว่า 300 ก้างขึ้นไป ไม่ได้ใช้เครื่องมือแต่ใช้มือของเกษตรกรที่จะต้องใช้แหนบคีบก้างออกมาทีละก้างซึ่งใน 1 ชม. 1 คนจะสามารถถอดก้างปลานวลจันทร์ทะเล ได้เพียง 5-6 ตัวเท่านั้น
นางนิออน กล่าวอีกว่า ถึงแม้วันนี้การจัดตั้งกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ฯ ผ่านมาไม่ถึงปีก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญผลิตภัณฑ์การแปรรูปปลานวลจันทร์ฯ เริ่มกลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคบ้างแล้ว โดยเฉพาะร้านอาหารหลายแห่ง และโรงแรมในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนสั่งปลานวลจันทร์ฯ ที่ผ่านการแปรรูปไปจำหน่าย และประกอบอาหาร ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแล้วแต่ร้านอาหาร โรงแรม จะคิดขึ้นเป็นเมนูต่างๆ
ซึ่งที่จำหน่ายได้ดีก็เห็นจะเป็นปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว ปลานวลจันทร์ทะเล รมควันก้างนิ่ม ปลานวลจันทร์ทะเลสดถอดก้าง และปลานวลจันทร์ทะเลหมักสูตรฟิลิปปินส์ ซึ่งในสูตรนี้ทางสถานทูตฟิลิปปินส์ ประจำประเทศไทย ได้ส่งเชฟมาฝึกสอนให้แก่ทางกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลฯ ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางสถานทูตฟิลิปปินส์ ก็จะมีออเดอร์เข้ามาเป็นช่วงตั้งแต่ 100-200 ตัว
สำหรับราคาจำหน่ายนั้นจะอยู่ที่ราคาตัวละตั้งแต่ 100-150 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ซึ่งหากเป็นตัวที่ผ่าซีกแล้วจะบรรจุในถุงพลาสติกสุญญากาศแช่แข็งเพื่อให้อยู่ได้นาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกลุ่มฯ กำลังอยู่ระหว่างขอ อย.จากกระทรวงสาธารณสุขอยู่
ด้านนายสงคราม สังข์ศิริ ผจก.โรงแรมหาดทอง ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ทางโรงแรมเราเห็นว่า ปลานวลจันทร์ทะเลฯ ของทางกลุ่มแปรรูปฯ ที่นำมาเสนอให้เป็นเมนูของโรงแรมฯ เมื่อมีการพิจารณาแล้วก็เห็นว่าน่าจะเป็นเมนูแปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน และทานอาหารในโรงแรมได้ จึงได้สั่งเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นปลานวลจันทร์ทะเลที่มีการผ่าซีก และเอาก้างออกหมดแล้ว มีการบรรจุในถุงแช่แข็งมาอย่างดี ซึ่งทางเชฟของโรงแรมก็นำมาทำเป็นเมนูปลานวลจันทร์ทะเลแดดเดียว และอีกหลายๆ เมนู ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื้อจะนุ่ม สิ่งสำคัญผู้ที่มาทานเห็นว่ามีการถอดเอาก้างออกแล้ว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตหากทางกลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลฯ มีการทำการตลาดมากขึ้นก็จะส่งผลให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในอนาคต
“ผมเห็นว่าหากผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ช่วยกันสนับสนุนผลิตภัณฑ์กลุ่มแปรรูปปลานวลจันทร์ทะเลฯ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งจากต้นน้ำ และปลายน้ำได้อีกทางหนึ่ง” นายสงคราม กล่าว