มุกดาหาร - จังหวัดมุกดาหารใช้ยุทธการ “พยัคฆ์คำราม 57” ป้องกันและสกัดแก๊งมอดไม้พะยูง ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 มุกดาหาร อำนาจเจริญ และยโสธร พร้อมขยายผลไปถึงผู้ว่าจ้าง ชี้หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องต้องดำเนินการเอาผิดไม่มีข้อยกเว้น
วันนี้ (19 พ.ย.) นายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานปล่อยขบวนกำลังเจ้าหน้าที่ตามยุทธการ “พยัคฆ์คำราม 57” เป็นการสผสานกำลังเพื่อออกปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายป่าไม้พะยูงในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และยโสธร และพื้นที่ข้างเคียงโดยมี พ.อ.กฤต ผิวเงิน รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี พ.อ.ยุทธนา ม่วงพูลสวาสดิ์ รอง ผอ.กอ.รมน.มุกดาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม โดยมีการประพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ก่อนออกปฏิบัติการ
ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติตามยุทธการ พยัคฆ์คำราม 57 ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในสังกัดส่วนอุทยานแห่งชาติ, ส่วนควบคุมไฟป่า, ทหารพรานที่ 21, ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 234, นรข.มุกดาหาร, กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี, ตำรวจภูธรในพื้นที่, รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 250 นาย
นายธานนท์ โสภิตชา ผู้อำนวยการส่วนอุทธยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวว่า ปัจจุบันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะไม้พะยูงในพื้นที่รอยต่อทั้ง 3 จังหวัดยังมีความรุนแรงสูงถึงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ได้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนกับขบวนการลักลอบตัดไม้ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่คือ นายพิพัฒน์ กลางประพันธ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของอุทยานภูผาเทิบ ถูกยิงเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงจัดทำแผนเปิด “ยุทธการพยัคฆ์คำราม 57” ตามแผนเฉพาะกิจเพื่อสนธิกำลังปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามลักลอบตัดไม้พะยูง ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ และยโสธรและพื้นที่ข้างเคียงขึ้น เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อสกัดกั้นยับยั้ง ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้มีค่าอื่นๆ กดดันขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง และสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ด้านนายสกลสฤษฏ์ บุญประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวมอบนโยบายปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่ว่า การปฏิบัติการตามแผน ต้องใช้มาตรการปราบปรามยาเสพติดร่วมด้วย ขยายผลไปถึงนายทุนผู้ว่าจ้าง เพราะทราบว่ามีการใช้ยาเสพติดมาเป็นค่าจ้างตัดไม้ทำลายป่า และขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ดูแลและประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวจะสอบสวน เมื่อผิดจริงต้องดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด ไม่ยกเว้น