xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคพอใจพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ปลูกในภาคอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนองคาย - ไบโอเทค ร่วมกับกรมการข้าว ติดตามความก้าวหน้าหลังพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว กข 6 ในพื้นที่ หวังแก้ปัญหาโรคขอบใบแห้ง ต้นเตี้ย พบพันธุ์ข้าวใหม่ดีขึ้น เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

วันนี้ (9 พ.ย.) ที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย กรมการข้าว อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะติดตามความก้าวหน้าโครงการการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระยะที่ 2 มีนายสมใจ สารีโท นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าว นำคณะให้ข้อมูลร่วมกัน

โดยได้ติดตามพันธุ์ข้าวที่มีการพัฒนาปรับปรุงพันธ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทั้งสภาพอากาศ สภาพน้ำแล้ง น้ำท่วมในภาคอีสาน โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 และ กข 18 ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกของชาวนาภาคอีสาน เนื่องจากเป็นข้าวเหนียวที่อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม รับประทานอร่อย แต่ที่ผ่านมา ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง และโรคไหม้ ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่เชื้อได้ในทุกระยะของต้นข้าว ทำให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เต็มที่

ไบโอเทค สวทช. ได้นำข้าวเหนียวสายพันธุ์ธัญสิริน นำไปปลูกทดสอบในภาคอีสาน ตั้งแต่ปี 2555 พบว่า เกษตรกรพึงพอใจต่อข้าวสายพันธุ์นี้ ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิมที่เคยปลูก ไม่เป็นโรคไหม้ แต่บางพื้นที่มีการระบาดของโรคขอบใบแห้ง และต้นข้าวล้ม จากปัญหานี้ไบโอเทคจึงพัฒนาข้าว กข 6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง และในปี 2556 ได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ จ.สกลนคร จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ พบว่า ผลเป็นที่น่าพอใจ ต้นข้าวต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ขนาดลำต้นสูงเฉลี่ย 130 ซม. ลดปัญหาต้นข้าวหักล้มตามแรงลม เมล็ดเรียวยาว คุณภาพเหนียวนุ่มคล้ายพันธุ์ กข 6

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ไบโอเทค กล่าวว่า หลังจากได้ติดตามการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวแล้วพบว่า ชาวนาในพื้นที่ภาคอีสานพึงพอใจกับข้าวพันธุ์ใหม่ และมีแนวโน้มที่จะหันมาปลูกข้าวสายพันธุ์ใหม่ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเองมากขึ้น แต่ยังพบว่ามีโรคข้าวบางโรคที่เมื่อก่อนเกิดไม่มาก หรือถูกมองข้าม มีการระบาดขึ้นใหม่ เช่น โรคเม็ดด่าง หรือกระสุนแดง ทำให้ข้าวลีบ ใบข้าวเป็นจุด ซึ่งจะได้พิจารณาปรับปรุงพันธุ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น