ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักศึกษา-คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. ออกแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฝั่งนักศึกษาระบุไม่รับร่างเหมาเข่ง-สุดซอย แต่ยอมรับร่าง “วรชัย” แนะเพิ่มนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี 112 ด้านฝั่งอาจารย์เสนอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนก่อนตัดสินใจ
วันนี้ (5 พ.ย.) นักศึกษาและคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมเรียกร้องให้วุฒิสภายับยั้งร่างดังกล่าว ที่ห้องประชุมสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มูลนิธิรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. มีตัวแทนนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ในนามกลุ่มนักศึกษา มช.คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าร่วมประกาศแถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษา ขณะที่คณาจารย์ซึ่งนำโดยรองศาสตราจารย์ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดี และ ดร.จันทนา สุทธิจารี หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง ร่วมประกาศแถลงการณ์ในนามของคณาจารย์อีกด้วย
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของนักศึกษาในนามกลุ่มนักศึกษา มช.คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีข้อเสนอโดยสรุปรวม 5 ข้อ คือ 1. คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 ที่ยกเว้นความผิดทุกกรณี 2. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม วาระที่ 1 ของนายวรชัย เหมะ
3. ไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสั่งการ แกนนำผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม และผู้สั่งการที่มีอำนาจตัดสินใจ ยุยง หรือสั่งการในเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม 4. ไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรมกรณีความผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง และการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบในระหว่างการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 5. ควรนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประทวงกฎหมายอาญา มาตรา 112
ขณะที่ความเห็นจากแถลงการณ์ของคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. ทั้งหมด 8 ข้อ มีเนื้อหาโดยสรุป คือ 1. เนื้อหาของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก่อให้เกิดความขัดแย้งและวิกฤตศรัทธาต่อบทบาทของสถาบันนิติบัญญัติ เนื่องจากอ้างถึงระบบเสียงข้างมากโดยละเลยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องอำนวยความยุติธรรมแก่สังคม 2. เนื้อหาของพระราชบัญญัติที่ครอบคลุมไปถึงผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่อยู่ในข่ายต้องรับผิดชอบในผลของการสั่งการ จะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องและจะถูกอ้างอิงโดยผู้ที่ต้องการความวุ่นวายทางการเมืองในอนาคต
3. เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทบทวนการออกกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบต่อบรรทัดฐานทางกฎหมาย 4. เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนความเหมาะสมของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และใช้อำนาจบริหารในการยับยั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งและวิกฤตศรัทธาของสังคม
5. เรียกร้องให้วุฒิสภาทบทวนความถูกต้องตามหลักนิติธรรมของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้งพระราชบัญญัติดังกล่าว 6. เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตีความร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่าขัดแย้งกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
7. เชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง บนพื้นฐานของการแสดงเหตุผลและเป็นไปอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องให้สถาบันรัฐสภาตรวจสอบการใช้อำนาจในฐานะผู้แทนของประชาชน และ 8. เรียกร้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
รองศาสตราจารย์ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์ในครั้งนี้ เนื่องจากได้พูดคุยกันแล้วมีความเห็นตรงกันว่าต้องการที่จะแสดงออกถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่สังคม ว่าจะนำไปสู่ทางออกหรือจะนำไปสู่ปัญหามากกว่าเดิม ทั้งนี้ ทางคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์หวังว่าข้อเสนอต่างๆ ที่ได้แถลงไปจะมีส่วนนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกที่เหมาะสมของเรื่องดังกล่าวต่อไป