เลย - นักศึกษา มรภ.เลย ร่วมกับชาวบ้านห้วยโป่ง ต.นาดินดำ สร้างฝ้ายน้ำล้นรักษาต้นน้ำและเก็บกักน้ำเพื่อให้เกษตรกรใช้ทำไร่ทำนาใน 5 ชุมชน เผยเป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่น ฝึกจิตอาสา และอนุรักษ์ธรรมชาติ
วันนี้ (29 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ภูทองแดง บ้านห้วยม่วง ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ร่วมกับชาวบ้านห้วยโป่ง สร้างฝ่ายน้ำล้นเก็บกักและชะลอน้ำเพื่อการเกษตรของ 5 ชุมชน ตามโครงการค่ายสิงห์ราชภัฏอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนักศึกษากับชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
โดยในปีนี้ออกค่ายอาสาพัฒนาที่บ้านห้วยม่วง ร่วมกับชาวบ้านสร้างฝายน้ำล้นเพื่อเก็บกักและชะลอน้ำบริเวณภูทองแดง บ้านห้วยม่วง ระยะเวลา 3 วัน
นายนพรัตน์ พันธุวาปี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า การออกค่ายสิงห์ อาสาพัฒนา ปีนี้เป็นปีที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด มีนักศึกษาเข้าร่วมออกค่ายเพื่อสร้างการมีจิตอาสา การทำงานเป็นเครือข่ายกับสังคมในการพัฒนาชุมชน ทั้งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน เกิดความรักหวงแหนในท้องถิ่นมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยนักศึกษา 160 คนที่ร่วมค่ายต้องมาอยู่มากินและใช้ชีวิตกับชาวชุมชนห้วยม่วง และสร้างฝายน้ำล้นและกักเก็บน้ำ 5 แห่ง ยาวประมาณ 1-3 เมตร กว้าง 1.5 เมตร สูง 1 เมตร บริเวณภูทองแดง เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ช่วงเย็นมีเวทีแลกเปลี่ยนชุมชนชาวค่าย ในประเด็นป่าไม้มรดกของชุมชนจะรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร ระหว่างชาวชุมชนห้วยม่วงร่วมกับนักศึกษา
นายลำพูน แสนหล้า ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท และการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน และส่งผลไปถึงการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะขยายผลไปในหมู่บ้านใกล้เคียงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายสรวิชญ์ ภูมิศรี นายกเทศมนตรีตำบลนาดินดำ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ทางมหาวิทยาลัยนำนักศึกษามาออกค่ายครั้งนี้ โดยการมาสร้างฝ่ายน้ำล้นกักเก็บน้ำ เพื่อไว้ใช้ในการเกษตร ทั้งยังเป็นการรักษาต้นน้ำบริเวณภูทองแดง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณผสมกับป่าไผ่กว่า 3,000 ไร่มีความลาดเอียง 30-70 องศา มีลำห้วยหินเหล็กไฟ เป็นลำน้ำสาขาของน้ำปวน และแม่น้ำเลย ห้วยหมากแงว ห้วยผึง ห้วยผากากซาก เดิมเคยมีประทานบัตรเหมืองแร่ทองแดง ต่อมาชุมชนเห็นร่วมกันว่าควรอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำนี้เอาไว้ และร่วมคัดค้านการอนุญาตการทำเหมืองแร่ทองแดงเป็นผลสำเร็จ ปัจจุบันจึงกลายเป็นป่าชุมชนที่ชุมชนร่วมกันดูแล และใช้ประโยชน์ร่วมกัน