ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวบ้าน ต.หนองยาง อ.เฉลิมพระเกียรติ โคราชกว่า 600 คน สุดทนชุมนุมปิดถนนสายบ้านด่านกระตา-บ้านโสงหนองบัว เรียกร้องให้ อบจ.เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมหลังสร้างถนนขวางทางน้ำ ทำท่วมบ้านเรือน ปชช. พื้นที่การเกษตรระดับสูงเป็นเวลานานซ้ำซากทุกปี
วันนี้ (28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านบ้านโสงหนองบัว และหมู่บ้านใกล้เคียงทั้ง 10 หมู่บ้านในเขต ต.หนองยาง อ.เฉลิมพระเกียรติ กว่า 600 คน ได้รวมตัวชุมนุมปิดถนนสายบ้านด่านกระตา-บ้านโสงหนองบัว ต.หนองยาง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา หลังชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากน้ำที่ท่วมขังพื้นที่ทางการเกษตรมานานตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมาได้ก่อสร้างถนนสายบ้านด่านกระตา-โสงหนองบัว ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งกีดขวางกั้นทางน้ำ ส่งผลให้บ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
นายบุญรอด นาคเม้า กำนันตำบลหนองยาง อ.เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว เมื่อมีฝนตกหรือปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลมีมาก น้ำในแม่น้ำมูลจะไหลบ่าลงสู่ทุ่งนา ซึ่งเป็นการไหลลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติ น้ำท่วมขังไม่นาน แต่หลังจาก อบจ.นครราชสีมาได้จัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างถนนสายนี้ทำให้กีดขวางทางเดินของน้ำ เมื่อมีน้ำมากจะท่วมขังบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรระดับสูงและเป็นระยะเวลานานขึ้น
ดังนั้น ตนและชาวบ้านจึงมารวมตัวชุมนุมกันเรียกร้องขอให้ อบจ.นครราชสีมาเร่งเข้ามาดำเนินการปรับปรุงวางระบบท่อระบายน้ำใต้ถนนสายนี้ให้ชาวบ้านในจำนวนที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำเพื่อที่น้ำจะได้ไหลลงไปสู่ที่ต่ำได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังมีชาวบ้านมารวมตัวชุมนุมเรียกร้องดังกล่าว นายวิสูตร เจริญสันต์ รองประธานสภา อบจ.นครราชสีมา และนายชาคริต ทิศกลาง ส.อบจ.นครราชสีมา เขต อ.เฉลิมพระเกียรติ ได้เดินทางมารับข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมกับรับปากชาวบ้านว่าหลังจากน้ำลดเข้าสู่สภาวะปกติจะรีบหางบประมาณมาสร้างช่องทางระบายน้ำให้ชาวบ้านเพิ่มเติม จากที่ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ 2 จุด โดยจะเพิ่มให้ในปีนี้อีก 2 จุด รวม 4 จุด ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 2 ล้านบาท และจะจัดสรรงบประมาณอีก 2 ล้านบาทเพื่อมาปรับปรุงถนนสายนี้ ที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาระหว่าง อ.เมืองนครราชสีมา กับ อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสร้างความพอใจให้แก่ชาวบ้าน ก่อนแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายแต่อย่างใด