สระแก้ว - กระทรวงการต่างประเทศไทย-กัมพูชา ร่วมหารือความสัมพันธ์ กรณีศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหาร 11 พ.ย. ยันผลเป็นอย่างไรความสัมพันธ์ต้องเหมือนเดิมตาม 4 แนวทางหลัก
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่เมืองปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมหารือกับ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลาโหม และสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดี ความร่วมมือที่กำลังเป็นไปด้วยดีระหว่างกัน ตลอดจนความสงบสุขบริเวณชายแดนของประเทศทั้งสอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผู้นำทั้งสองต่างยึดมั่นมาโดยตลอด
นายสุรพงษ์ และนายฮอร์ นัมฮง ร่วมกันแถลงภายหลังว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงแนวทางที่จะช่วยกันดูแลความสัมพันธ์ระหว่างกัน ช่วงที่ศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำพิพากษาคดีเมื่อปี 2505 สำหรับการหารือในวันนี้สรุปได้ 4 แนวทาง คือ 1.ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกจะออกมาเช่นไร จะไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะเราเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่จะต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป การดำเนินการใดๆ จะต้องมีการพูดคุยเจรจาหารือกัน และยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่จะรักษาความสงบตามแนวชายแดน และภายในของประเทศทั้งสอง และจะไม่ให้มีสิ่งใดมากระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
2.เพื่อรักษาบรรยากาศความเป็นมิตรระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกำหนดมาตรการที่จะยึดถือปฏิบัติร่วมกัน ทั้งสำหรับช่วงก่อน และภายหลังการอ่านคำตัดสินของศาล โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า จะต้องมีมาตรการที่จะรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขตามแนวชายแดน ทั้งในระดับรัฐบาล และระดับทหารในพื้นที่ จะช่วยกันรักษาความสงบบริเวณชายแดน และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ จะดูแลให้มีการติดต่อไปมาหาสู่กันตามปกติ ทั้งในส่วนของประชาชน และการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม และด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเคารพในสิทธิและการแสดงออกของกันและกัน
3.ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ และกระบวนการทางกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ และสนับสนุนให้มีการพบปะหารือเกี่ยวกับสาระสำคัญของคำตัดสิน และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไปตามลำดับ ซึ่งในชั้นนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้ใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว เช่น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (เจซี) ไทย-กัมพูชา หรือกลไกอื่นๆ
4.การนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ และเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละฝ่าย เป็นหน่วยงานหลักในการประสานข้อมูล และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร
โดยการหารือในครั้งนี้ ได้สะท้อนถึงความตั้งใจอันดีของทั้งสองประเทศที่จะพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และความสงบสุขตลอดแนวชายแดนที่ติดต่อกัน และภายในประเทศทั้งสอง