ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ตัวแทนสมาชิกเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรหลายอำเภอในขอนแก่นกว่า 200 คนชุมนุนหน้าศาลากลางหลังใหม่ หนุนโครงการโอนย้ายหนี้พักไว้ที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ถึงนายกฯ ให้สนับสนุนโครงการ พร้อมขอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณกว่า 52,000 ล้านบาทชำระหนี้แทนเกษตรกรในขอนแก่นที่มีบัญชีหนี้กว่า 338,502 บัญชี ด้านพ่อเมืองขอนแก่นรับลูก พร้อมชงต่อเรื่องถึงรัฐบาล
วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังใหม่ กลุ่มสมาชิกเกษตรกรเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรต่างๆ ในพื้นที่ อ.กระนวน, อ.น้ำพอง, อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น กว่า 200 คน นำโดยนายสวาท ใจดี ประธานอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.ขอนแก่น ชุมนุมยื่นข้อเสนอโครงการโอนย้ายหนี้เกษตรกรฯ มาพักไว้ที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ลงมารับหนังสือโครงการโอนย้ายหนี้จากนายสวาท ใจดี และคณะ พร้อมรับปากจะดำเนินการนำหนังสือข้อเรียกร้องของเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นไปยังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและประชาชนอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรพอใจ และสลายการชุมนุมเดินทางกลับภูมิลำเนาในที่สุด
นายสมคิด โพธิ์ศรี ประธานสหกรณ์การเกษตร อ.กระนวน ในฐานะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การเดินทางมายื่นหนังสือโครงการโอนย้ายหนี้วันนี้ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนับสนุนโครงการโอนย้ายหนี้เกษตรกรทั้งในส่วนลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, โครงการส่งเสริมของรัฐ ให้มาพักไว้ที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งการให้โอนย้ายหนี้รัฐบาลต้องดำเนินการให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ด้วย
ตามโครงการโอนย้ายหนี้ฯ ที่มีนายสุภรณ์ อัตถาวงษ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโครงการดังกล่าว กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะเป็นผู้ชำระหนี้แทนเกษตรกรให้แก่สถาบันการเงิน โดยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส., ลูกหนี้ตามโครงการส่งเสริมของรัฐ และเครือข่ายสหกรณ์เกษตรกรต่างๆ จำนวน 276,464 ราย 338,502 บัญชี
โดยคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.ขอนแก่น ขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณจำนวน 52,293,842,844 บาท หรือกว่าห้าหมื่นสองพันล้านบาท แยกเป็นชำระหนี้แทนเกษตรกรจำนวน 45,129,529,972 บาท เงินสนับสนุนการฟื้นฟูฯ หลังการโอนย้ายหนี้ 5,641,191,246 บาท และเป็นงบบริหารและดำเนินการโอนย้ายหนี้จำนวน 1,523,121,626 บาท