นครสวรรค์ - ประเด็นหนุน-ค้านเขื่อนหวิดทำป่าแม่วงก์ปั่นป่วน หลัง “กลุ่มกล้วย” นำนักวิ่งทำกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติไร้ป้ายค้านเขื่อน กลับเจออดีต ส.ส.ขนชาวบ้าน 50 คันรถกดดัน แถม “ศศิน” โผล่เซอร์ไพรส์ซ้ำ
รายงานข่าวจาก จ.นครสวรรค์แจ้งว่า ระหว่างที่กลุ่มนักวิ่งมาราธอนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มกล้วย” ราว 150 คน จัดกิจกรรมวิ่งจากหอศิลป์กรุงเทพฯ-ป่าแม่วงก์ ย้อนรอยเส้นทางเดินเท้า 388 กิโลเมตร จากแม่วงก์-กรุงเทพฯ ของนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และนักอนุรักษ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เกือบเกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์
เพราะในขณะที่กลุ่มนักวิ่งที่ใช้กล้วยแทนไม้วิ่งผลัดรับไม้ต่อกันเป็นทอดๆ เพื่อมุ่งหน้าไปสัมผัสธรรมชาติที่ป่าแม่วงก์ และได้เรียนรู้เรื่องราวของป่าแม่วงก์ที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมด้วยตนเอง โดยไม่มีการรณรงค์คัดค้าน หรือสนับสนุนการสร้างเขื่อน และไม่อนุญาตให้มีการชูป้ายหรือเครื่องหมายที่แสดงการสนับสนุน หรือคัดค้านการสร้างเขื่อนเด็ดขาด
ได้มีอดีต ส.ส.นครสวรรค์ที่เป็นแกนนำสนับสนุนการสร้างเขื่อน นำชาวบ้านประมาณ 50 คันรถเดินทางเข้าไปที่ป่าแม่วงก์เพื่อกดดันบรรดานักวิ่งดังกล่าวด้วย แต่เมื่อไม่พบการเคลื่อนไหวต้านเขื่อนทำให้อดีต ส.ส.และชาวบ้านเดินทางกลับโดยไม่ได้เข้าขัดขวางการทำกิจกรรมของกลุ่มกล้วยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ช่วงบ่ายถึงเย็นวันเดียวกัน นายศศิน เฉลิมลาภ และนายอดิศักดิ์ จันทวิชานุวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง ได้เข้ามาพบกับกลุ่มนักวิ่งมาราธอนกลางป่าแม่วงก์ ซึ่งสร้างความประหลาดใจ และสร้างความยินดีให้แก่กลุ่มกล้วยเป็นอย่างมาก
นายศศินอธิบายถึงเหตุผลการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยใช้วิธีค้านผลศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เขื่อนแม่วงก์ว่า หากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และเครือข่ายอนุรักษ์ไม่เริ่มออกเดินจากป่าแม่วงก์เข้าสู่ กทม. EHIA ก็อาจได้รับการอนุมัติให้ผ่านตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตนไม่ได้ค้านแค่เขื่อนแม่วงก์เท่านั้น แต่ยังค้านเขื่อนทุกเขื่อนที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า เพราะหากเขื่อนแห่งนี้สร้างได้ เขื่อนอื่นก็จะสร้างได้เหมือนกัน ตนและเครือข่ายนักอนุรักษ์จึงทำทุกทางที่ทำได้เพื่อยับยั้งโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ
สำหรับโครงการเขื่อนแม่วงก์ ล่าสุดอาจต้องมีการทำ EHIA ใหม่เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มสนับสนุนให้เกิดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของภาครัฐที่ยังพยายามผลักดันโครงการให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครือข่ายนักอนุรักษ์ก็จะใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาต่อสู้ พร้อมกับการจัดกิจกรรมย่อยในสถานที่ต่างๆ
ส่วนบรรยากาศเวทีเสวนา “ความจริง...แม่วงก์ จากเมืองสู่ป่า” ที่ชมรม อปท. 4 อำเภอของ จ.นครสวรรค์ จัดขึ้นบริเวณสนามหญ้าหน้าแหล่งท่องเที่ยวแก่งเกาะใหญ่ หมู่ 24 ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ เมื่อค่ำวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากจัดแรลลีจากเมืองเข้าป่าแม่วงก์ในบ่ายวันเดียวกันนั้น กลุ่มผู้จัดเวทีได้เตรียมโต๊ะจีนไว้กว่า 100 โต๊ะ เพื่อรองรับชาวบ้านจากตำบลต่างๆ ใน อ.ลาดยาว อ.ชุมตาบง อ.แม่เปิ่น อ.แม่วงก์
ปรากฏว่าแม้ช่วงแรกจะมีชาวบ้านมาร่วมรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีนจำนวนมาก แต่ผู้ที่อยู่ร่วมฟังการเสวนากลับมีเพียง 10 กว่าโต๊ะเท่านั้น