xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวบึงนคร” กว่า 5,00 คนถูกลอยแพหลังน้ำป่าทะลัก ไร้หน่วยงานรัฐเหลียวแล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ที่ชาวบ้านตำบลบึงนคร หัวหิน กว่า 5,000 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภูเขาฝั่งตะวันตกต้องประสบปัญหาหลังเกิดฝนตกหนักตั้งแต่ต้นเดือน และทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลทะลักลงแม่น้ำปราณบุรี จนทำให้สะพาน และฝายหลายแห่งภายในหมู่บ้านพังเสียหาย บางช่วงของแม่น้ำถูกกัดเซาะกลายเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ส่งผลให้ชาวบ้านหลายพันคนไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้ ขณะที่ระดับน้ำขณะนี้ยังคงท่วมสูงอยู่ จนปัจจุบันภาครัฐก็ยังไม่มาดำเนินการ

วันนี้ (11 ต.ค.) นายเสริม เต็มฟอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายไพฑูรย์ ใจหลัก กำนันตำบลบึงนคร ได้พาสื่อมวลชนเดินทางโดยรถยนต์โฟร์วีลล์ไปยังบริเวณแม่น้ำปราณบุรี หมู่ 5 บ้านบึงนคร ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่กลายเป็นแม่น้ำทีมีความกว้างขนาดใหญ่ทันที ภายหลังจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรี น้ำตกป่าละอู น้ำตกแพรกตระคร้อ ไหลมารวมกัน และทะลักลงสู่แม่น้ำปราณบุรี เข้าท่วมทั้งที่บ้านป่าละอูน้อย ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ยังส่งผลให้แม่น้ำปราณบุรี บางช่วงถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยมกรากกัดเซาะริมตลิ่งหายไป พร้อมกับฝาย และสะพานในหลายหมู่บ้านของตำบลบึงนคร ขาดจนไม่สามารถใช้สัญจรได้มานานเกือบ 1 สัปดาห์

นายเสริม กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้ระดับน้ำจะเริ่มลดลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่รถยนต์ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ก็ยังไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ในหลายหมู่บ้านของ ต.บึงนคร ทำให้ชาวบ้านจาก 12 หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านบึงนคร บ้านวังสาหร่าย บ้านแพรกตระคร้อ บ้านท่าไม้ลาย ฯลฯ กว่า 250 ครัวเรือน ประชากรกว่า 5,000 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

รวมทั้งยังไม่สามารถนำผลผลิต โดยเฉพาะสับปะรดเข้าสู่โรงงานในตัวอำเภอได้ ถึงแม้บางครั้งชาวบ้านต้องหันไปใช้เส้นอ้อมไปยัง ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ เดินเข้าสู่ตัวเมืองหัวหิน แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานมากขึ้น และยังเป็นอุปสรรคต่อคนเจ็บป่วยที่จะไปโรงพยาบาลในตัวเมืองอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น หมู่บ้านบึงนครทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าต้องใช้แสงสว่างจากแผงโซลาร์ เซลล์ แต่ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกมาตลอด ส่งผลให้ไม่มีพลังงานโซลาร์ เซลล์ และต้องตกอยู่ในความมืดมาตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา การติดต่อสื่อสารก็ใช้ได้ทางวิทยุ ส่วนโทรศัพท์ก็ใช้ได้แต่ต้องเป็นบ้านที่ติดตั้งเสาสัญาณสำหรับรับโทรศัพท์

ทำให้นายเสริม เต็มฟอม นายก อบต.บึงนคร ต้องประสานของกำลังทหารจากศูนย์การทหารราบโดย พล.ต.นภดล ยิ้มถนอม ผบ.ศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี ได้สั่งการให้ พ.อ.อานนท์ เพชรคำ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน นำกำลังทหารจำนวน 100 นาย พร้อมเรือท้องแบน เดินทางเข้าพื้นที่เพื่อหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเส้นทางบางช่วงผิวถนนซึ่งเป็นดินลูกรัง ทำให้รถที่สัญจร และจนพืชผลการเกษตรมาส่งโรงงาน ติดหล่มทำให้ทหารจึงต้องน้ำรถยูนิม็อกเข้าไปช่วยลากเพื่อเปิดเส้นทางให้ชาวบ้านเข้าออก

พ.อ.อานนท์ เพชรคำ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ค่ายธนะรัชต์กล่าวว่า การเข้าออกระหว่างหมู่บ้านยังไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ เนื่องจากบริเวณจุดที่ชาวบ้านใช้เส้นทางข้ามแม่น้ำปราณบุรี เข้าออกหมู่บ้านสู่ตัวเมืองหัวหิน และอำเภอปราณบุรี นั้นส่วนใหญ่สภาพได้รับความเสียหายอย่างหนัก และไม่สามารถที่จะนำเรือท้องแบนลงไปรับส่งชาวบ้านได้ เนื่องจากระดับน้ำยังคงท่วมสูง และกระแสน้ำยังคงไหลแรงอยู่ รวมทั้งไม่มีความปลอดภัย โดยเห็นว่าต้องรอให้น้ำลดลงมากกว่านี้ และคงต้องประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทางอำเภอหัวหินต่อไปว่าจะดำเนินการซ่อมแซมเส้นทางที่ขาดอย่างไรได้บ้างต่อไป

นายเสริม เต็มฟอม นายก อบต.บึงนคร กล่าวว่า อยากให้ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดหางบประมาณก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปราณบุรี บริเวณหมู่ 5 บ้านบึงนคร แทนสะพานเก่าที่ถูกน้ำป่าพัดพังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านได้แต่ระดมเงินมาเทปูนเพื่อใช้สัญจรเข้าออก แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการจัดสร้างสะพานตัวใหม่ ทั้งที่เป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางเข้าสู่ตัว อ.หัวหิน และ อ.ปราณบุรี ตลอดจนตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในส่วนของสะพาน ฝาย และถนนเส้นต่างๆ ที่เสียหาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ส่วนพืชผลทางการเกษตรอยู่ระหว่างสำรวจ

นายไพฑูรย์ ใจหลัก กำนันตำบลบึงนคร กล่าวว่า ชาวบ้านตำบลบึงนคร ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่นได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลชาวบ้านบึงนคร ที่อยู่ห่างไกลในชนบทบ้าง เพราะชาวบ้านที่บึงนคร ก็อยู่ใน อ.หัวหิน แต่การพัฒนากับไม่ได้รับความสนใจจากทางภาครัฐเท่าที่ควร โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำป่าไหลทะลักเกิดขึ้นปีละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบในเรื่องของการสัญจรมาโดยตลอด และครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะเคยเกิดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาครั้งหนึ่งแล้ว หากมีการสร้างสะพานแทนสะพานเก่าที่พังไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านก็จะไม่เดือดร้อนมากนัก ไม่ต้องมานั่งรอถุงยังชีพ พร้อมกันนี้ ภายหลังน้ำลด และกลับเข้าสู่ภาวะปกติจึงอยากให้ทางภาครัฐเร่งดำเนินการจัดสร้างสะพาน และฝายที่ได้รับความเสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน วันนี้กิ่งกาชาดอำเภอหัวหิน สถานีกาชาดที่ 10 หัวหิน เฉลิมพระเกียรติ ฝ่ายอำเภอหัวหิน ได้นำถุงยังชีพของสภากาชาดไทย จำนวน 200 ชุด และน้ำดื่มจำนวนหนึ่งไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านบึงนครบางส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ทำให้ทาง นายก อบต.บึงนคร ต้องไปขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพจากภาคเอกชนในพื้นที่ อ.ปราณบุรี มาเพิ่มเติมอีก 300 ชุดในเบื้องต้น เพื่อประทังความเดือดร้อนของชาวบ้านในขณะนี้ที่ยังเข้าออกไม่ได้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังคงวิตกว่าหากยังมีฝนตกลงมาอีกจะส่งผลกระทบอย่างหนัก เพราะขณะนี้ในป่า และพื้นดินมีความอิ่มตัวของน้ำ และพร้อมที่จะเกิดน้ำป่า และดินโคลนถล่มตามมา









กำลังโหลดความคิดเห็น