ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านหน้านิคมอุตฯ เกตเวย์ ฉะเชิงเทรา โวยถนนเละเป็นคลองไร้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขดูแล สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก ด้าน อบต.ในพื้นที่แจงความเจริญเติบโตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีใครจ่ายภาษีบำรุงท้องที่เพื่อนำเงินมาพัฒนา
วันนี้ (1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นางจันทร ใจแก้ว อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 681 ม.9 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้ชาวบ้านในตำบลหัวสำโรงกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องเส้นทางการสัญจรที่ไม่สะดวก โดยในช่วงหน้าแล้งนั้นก็เกิดปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ เนื่องจากมีรถรับส่งพนักงาน และรถบรรทุกขนถ่ายสินค้าในภาคอุตสาหกรรมวิ่งผ่านเข้าออกในเส้นทางนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้เป็นจำนวนมาก
ส่วนหน้าฝนในปัจจุบันนี้ เส้นทางการเข้าออกสู่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้นั้นได้เกิดการชำรุดเสียหายจนไม่เหลือสภาพของถนนที่ผ่านการลาดยาง และใช้ในการขนถ่ายสินค้า รวมทั้งคนงานนับแสนคนผ่านเข้ามาในพื้นที่มาก่อน เนื่องจากสภาพถนนทุกวันนี้ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นดินโคลน รถเล็กผ่านเข้าออกไม่ได้ ขณะที่รถใหญ่ก็เข้ามาติดหล่มจนกลายเป็นหลุมลึก ทำให้เกิดปัญหารถติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงเช้า-เย็น ระหว่างที่พนักงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เลิกงาน
นางจันทร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าวทำให้การค้าขาย และการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีคนแวะเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากการเข้าออกลำบาก ส่วนหน้าแล้งก็มีฝุ่นปลิวลอยมาลงใส่อาหารที่ร้านค้า ทำให้คนไม่เข้ามาซื้อรับประทาน จึงอยากให้หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาดูแล หรือซ่อมแซมให้ถนนอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้โดยปกติด้วย
ขณะที่นายสายัณห์ รวงผึ้ง อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 102 ม.9 ต.หัวสำโรง กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนเส้นทางสายนี้มักจะเกิดการรุดเสียหาย เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวขวางเส้นทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ จึงทำให้น้ำระบายได้ช้า และทำให้น้ำเอ่อล้นขึ้นมาท่วมพื้นผิวการจราจรเมื่อเวลาฝนตกหนัก นอกจากนั้น จะมีรถบรรทุกหนัก รถรับส่งคนงานวิ่งผ่านเข้าออกจึงทำให้ผิวการจราจรชำรุดเสียหายดังกล่าว
ด้านนายเฉลิมเกียรติ นพเกตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวสำโรง (อบต.) อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้แห่งนี้มีการเจริญเติบโต และขยายตัวอย่างมาก เนื่องจากมีโรงงานจากภาคกลางที่เคยถูกน้ำท่วมหลั่งไหลเข้ามาก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่นี่ จึงทำให้มีการขนถ่ายสินค้าเข้าออกจากโรงงานในปริมาณมากขึ้น มีการสัญจรเข้าออกของคนงานมากขึ้น และมีประชากรแฝงเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะเส้นทางการสัญจรที่คับแคบเล็กลงในทันทีเมื่อเทียบกับการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนในการเตรียมการรองรับนั้น ต้องฝากไปถึงยังทางการนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ว่า มีแผนในการรองรับทางด้านนี้อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาทาง อบต.ท้องที่ซึ่งเป็นหน่วยงานขนาดเล็กนั้นไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาทำการแก้ไขปรับปรุงเพื่อรองรับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้ เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาก่อตั้งประกอบกิจการอยู่ในพื้นที่ โดยไม่ได้จ่ายภาษีสรรพสามิต และภาษีเงินได้ให้แก่ทางท้องถิ่นที่เข้ามาก่อตั้งอยู่อาศัย แต่กลับไปจ่ายให้แก่ทางจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของโรงงานเก่า หรือที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
ปัญหาต่างๆ ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้ แต่ชาวตำบลหัวสำโรง ผิดหวังต่อการเจริญเติบโตดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ (โตโยต้า) ที่เคยเข้ามาก่อตั้งโรงงานมานานแล้ว แต่กลับไม่เลยจ่ายภาษีให้แก่คนในท้องถิ่นเพื่อนำรายได้มาพัฒนาท้องที่เลย