ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สวนสัตว์เชียงใหม่นำทีมสัตวแพทย์แถลงข่าว หลังผสมเทียม “หลินฮุ่ย” 2 ครั้งผ่านฉลุย หัวหน้าทีมแจงแม้จะห่วงที่เป็นสัดช้า-นอกฤดู กับไม่มั่นใจ “ช่วงช่วง” มีน้ำเชื้อพอหรือไม่ แต่หลังพบน้ำเชื้อคุณภาพดี-ทีมงานวัดระดับฮอร์โมนให้ข้อมูลแม่นยำ จึงตัดสินใจลงมือ ระบุอีก 3 เดือนลุ้นต่อว่าตั้งท้องหรือไม่
คณะสัตวแพทย์เปิดเผยว่า ได้ทำการผสมเทียมให้แพนด้าหลินฮุ่ยแล้ว 2 ครั้ง โดยใช้น้ำเชื้อสดที่ได้จากแพนด้าช่วงช่วง ซึ่งผลการผสมเทียมเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะไม่ทำเพิ่มอีก จากนี้ไปต้องติดตามปริมาณฮอร์โมนเพื่อดูว่าหลินฮุ่ยตั้งท้องหรือไม่
โดยการแถลงข่าววันนี้ (29 ก.ย.) ที่ห้องประชุมสโมสรแพนด้า สวนสัตว์เชียงใหม่ นายธนภัทร พงษ์ภมร ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ วิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สัตวแพทย์หญิง ขวัญเรือน ดวงสะอาด สัตวแพทย์หญิง ดร.อัมพิกา ทองภักดี และนายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ร่วมแถลงข่าวถึงการผสมเทียมให้แพนด้าหลินฮุ่ย โดยระบุว่าคณะสัตวแพทย์และทีมงานได้ทำการผสมเทียมรวม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน เวลา 02.15 น. ครั้งที่ 2 วันนี้ (29 ก.ย.) เวลา 08.15 น. ทั้งสองครั้งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเป็นพี่พอใจของคณะสัตวแพทย์
นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตรกล่าวว่า หลังจากตรวจพบว่าหลินฮุ่ยมีอาการเป็นสัดและพร้อมผสมพันธุ์ คณะทำงานได้ติดตามระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าหลินฮุ่ยตกไข่พร้อมรับการปฏิสนธิ ขณะเดียวกันได้ประสานงานทางการจีน ซึ่งได้อนุญาตให้ไทยผสมพันธุ์แพนด้าได้ ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายจีนเข้าร่วม
หลังจากกระบวนการต่างๆ มีความพร้อมแล้ว คณะสัตวแพทย์จึงได้วางแผนผสมเทียมให้หลินฮุ่ย ก่อนจะตัดสินใจทำการผสมเทียม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกใช้น้ำเชื้อสดที่ได้จากช่วงช่วง ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการผสมโดยใช้น้ำเชื้อแช่เย็น
นายสัตวแพทย์ ดร.บริพัตรกล่าวว่า แม้อาการติดสัดของหลินฮุ่ยจะเกิดขึ้นนอกฤดู ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษ แต่จากความแม่นยำในการตรวจสอบฮอร์โมนและเฝ้าสังเกตอาการของทีมงาน ประกอบกับน้ำเชื้อที่ได้จากการจัดเก็บจากช่วงช่วงเป็นน้ำเชื้อที่มีคุณภาพสมบูรณ์ดีมาก ทำให้ทีมงานสามารถทำการผสมเทียมได้ครบทุกกระบวนการตามแผนที่วางไว้ โดยหลังการผสมเทียมทั้งช่วงช่วงและหลินฮุ่ยมีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัยดี
ช่วง 3 เดือนจากนี้ไปจะเป็นช่วงที่ทีมงานต้องติดตามดูพฤติกรรม และระดับฮอร์โมนของหลินฮุ่ยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่ามีการปฏิสนธิเกิดขึ้นและมีการตั้งท้องหรือไม่ เพราะแม้ระดับฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการตั้งท้องเทียมได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะไม่มีการผสมเทียมเพิ่มอีก เนื่องจากไม่อยากให้กระทบร่างกายของหลินฮุ่ยมากเกินไป ส่วนจะตั้งท้องหรือไม่นั้นจากนี้ไปขึ้นอยู่กับหลินฮุ่ย แต่จากการที่ปัจจัยหลายอย่างมีความสมบูรณ์ดี ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ
ส่วนกรณีที่หลินฮุ่ยตั้งท้องจะส่งผลต่อการเดินทางกลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามสัญญาที่มีข้อตกลงกันไว้หรือไม่นั้น หากตั้งท้องและมีลูกแพนด้าเกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกับการเดินทางก็คงต้องเลื่อนการเดินทางออกไป
ส่วนในระยะยาวคงต้องหารือกันระหว่างฝ่ายไทยกับจีน เนื่องจากหากไทยได้ลูกแพนด้าตัวใหม่จะมีผลไปถึงสัญญาของหลินฮุ่ยด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีแพนด้าที่จีนส่งมอบให้ประเทศอื่นๆ เป็นเวลานานกว่า 10 ปีนั้น พบว่ามักจะไม่นำกลับประเทศ เนื่องจากถือว่ามีความผูกพันกับสถานที่