นครสวรรค์ - จากฝนที่ตกติดต่อกันหลายวันในพื้นที่นครสวรรค์ ทำให้นาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวใน อ.โกรกพระ ถูกน้ำท่วมขังแล้วกว่า 2,000 ไร่ ถนนเข้าหมู่บ้านบางจุดน้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร
วันนี้ (18 ก.ย.) นายสำเริง อาจวงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.3 บ้านบ่อพลับ ต.เนินกว้าว อ.โกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ อาสานำทีมข่าวลงพื้นที่น้ำท่วมขังในหมู่บ้าน พร้อมเล่าว่า ก่อนหน้านี้เพียง 3 สัปดาห์ ชาวบ้านต้องเดินทางไปสูบน้ำไกลกว่า 5 กิโลเมตร เพื่อนำมาใส่นาข้าว เพื่อไม่ให้ตายแล้ง แต่หลังจากฝนตกลงมาเพียง 3 วัน น้ำก็ท่วมขัง ชาวบ้านต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำติดตั้งหลายจุด สูบน้ำออกจากนาข้าวตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมนอนเฝ้าเครื่องเพราะก่อนหน้านี้เครื่องสูบน้ำถูกขโมยไปแล้วหลายเครื่อง
แต่ล่าสุด แม้ชาวบ้านจะใช้รถแบ็กโฮ ปั้นคันดินรอบที่นาระยะทางหลายกิโลเมตร แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากฝนยังคงตกในพื้นที่ และในเขตวนอุทยานเขาหลวง จนส่งผลให้น้ำเพิ่มระดับสูงกว่าคันกันน้ำ และกัดเซาะเข้าท่วมนาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวจนไม่สามารถสูบออกไหว ชาวบ้านบางรายต้องจำใจปล่อยทิ้ง
ขณะที่ นางชั้น พันธุรัตน์ ต้องจ้างรถเกี่ยวข้าวเขียวในนาน้ำท่วม 40 ไร่ที่ยังไม่ถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวนำไปขายโรงสีราคาเกวียนละ 5,000-6,000 บาท โดยยอมขาดทุนดีกว่าข้าวจะถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด
น้ำที่ท่วมขังในหมู่บ้านบ่อพลับ มาจากน้ำฝน และน้ำที่ไหลจากวนอุทยานเขาหลวง ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี มาทางคลองระบายน้ำรอบวนอุทยานเขาหลวงเขตรับผิดชอบชลประทานจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งคลองระบายน้ำแห่งนี้ปลายทางมาสิ้นสุดในเขตพื้นที่หมู่บ้านบ่อพลับ โดยน้ำจะไหลจากปลายคลองลงไปยังนาข้าวซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ของหมู่บ้านบ่อพลับ แต่ไม่มีช่องทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ เนื่องจากติดบ้านเรือน โรงสี และถนนสายนครสวรรค์-โกรกพระ น้ำจึงไม่สามารถไหลต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้
สำหรับที่นาในหมู่บ้านบ่อพลับในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อน นาจะแล้งจัดไม่มีแหล่งน้ำ เนื่องจากไม่มีคลองชลประทาน ส่วนฤดูฝน น้ำก็จะหลากท่วมเป็นประจำทุกปี จนชาวนาได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะปลูกข้าวแล้วส่วนใหญ่ก็จะขาดทุนจากข้าวตายแล้ง และน้ำท่วม ปัญหานี้ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังอำเภอโกรกพระ และร้องไปยังจังหวัดอุทัยธานี ให้เร่งดำเนินการแก้ไข ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน ปี 2552 ซึ่งได้รับคำตอบว่าจะดำเนินการให้ แต่ขณะนี้ผ่านมาถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขแต่อย่างใด