มหาสารคาม - จังหวัดจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกอ้อย นำร่อง อ.ชื่นชม และ อ.เชียงยืน 7,000 ไร่ ทดแทนการปลูกข้าว หวังเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่เหมาะสม
วันนี้ (16 ก.ย.) ที่หอประชุมโรงเรียนชื่นชมพิทยาคาร อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมผู้จัดการโรงงานน้ำตาล เกษตรจังหวัด และนายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่เสนอทางเลือกการจัดโซนนิ่งปลูกอ้อย หรือการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมไปปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อพัฒนาระบบการผลิต และกระจายพันธุ์อ้อยสู่เกษตรกร
นายนพวัชรกล่าวว่า จากนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมหรือเกษตรโซนนิ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดระเบียบพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีลู่ทางการตลาด ในส่วนของจังหวัดได้สำรวจพื้นที่ปลูกข้าวที่มีอยู่กว่า 2 ล้านไร่ พบว่าสามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่เพียง 1 ล้านไร่เศษ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น เป็นที่นาดอนมีดินปนทราย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนไร่
ทางจังหวัดจึงได้วางแนวทางปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดปี 2557 ในด้านการเกษตร ด้วยการปรับพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นทดแทนเพื่อให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และเป็นพืชที่มีลู่ทางการตลาด โดยเฉพาะจังหวัดมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ที่ ต.แก้งแก อ.โกสุมพิสัย ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งอ้อยยังนำไปผลิตเป็นพลังงานทางเลือกเป็นการเตรียมความพร้อมในการแข่งขันด้านการตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558
ทั้งนี้ การปลูกข้าวในพื้นที่นาไม่เหมาะสมต้องลงทุนสูง ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า โดยจังหวัดได้คัดเลือกเกษตรกรใน อ.เชียงยืน และ อ.ชื่นชม นำร่องปีแรก 7,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่เหมาะสม เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ และจังหวัดได้จัดหาแหล่งกระจายผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้ำตาลทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงไว้แล้ว เชื่อมั่นว่าการปลูกอ้อยป้อนโรงงานจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร คุ้มค่ากว่าการปลูกข้าวแน่นอน