ลำปาง - รถไฟสายเหนือตกรางซ้ำซาก 13 ครั้งในรอบ 6 เดือน พ.ย.นี้ปิดเส้นทางลำปาง-เชียงใหม่ 2 สัปดาห์ เปลี่ยนคอนกรีตแทนไม้หมอน
อุบัติเหตุรถไฟสายเหนือตกรางกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว เนื่องจากแทบทุกเดือนจะต้องเกิดเหตุซ้ำซากในพื้นที่เดิมหรือใกล้เคียง โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อส 3 จังหวัด คือ ลำพูน ลำปาง และแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งยังไม่เปลี่ยนไม้หมอน ประกอบกับช่วงนี้ฝนตกทำให้ดินชุ่มน้ำ และทรุดตัว จึงทำให้รางขยายตัว เมื่อรถไฟวิ่งเร็วทำให้ล้อหลุดจากราง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นทางโค้ง
แม้ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ส่วนซ่อมบำรุงจะเสริมความแข็งแรงของรางโดยการเพิ่มจำนวนไม้หมอนให้ถี่มากขึ้นในช่วงทางโค้ง พร้อมกับเสริมเหล็กยึดรางประกบเข้าไปอีกชั้น เพื่อดึงตัวรางไม่ให้ขยายออก แต่ก็ไม่เป็นผลเท่าไหร่ เนื่องจากระยะทางกว่า 190 กิโลเมตร ที่ยังใช้ไม้หมอนก็ยังคงเกิดปัญหาเดิม
ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมาเวลาประมาณ 4 ทุ่มกว่า วันที่ 5 กันยายน ระหว่างสถานีรถไฟบ้านปิน-แก่งหลวง เสาหลักโทรเลขรถไฟที่ สทล. 555/14 เขต อ.อลอง จ.แพร่ คราวนี้เป็นการตกรางของโบกี้โดยสารโบกี้สุดท้าย เป็นรถนอน ตกรางไปถึง 4 ล้อ 2 เพลา
และครั้งนี้นับเป็นเหตุรถไฟสายเหนือตกรางครั้งที่ 13 ในรอบ 6 เดือน โดยในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2556 เกิดเหตุตกราง 4 ครั้ง เขตพื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 2 ครั้ง และอ.แม่ทา จ.ลำพูน 2 ครั้ง ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2556 ตกราง 8 ครั้ง พื้นที่ อ.ลอง-อ.เด่นชัย จ.แพร่ 4 ครั้ง เขตจ.ลำปาง 3 ครั้ง เขตรอยต่ออุตรดิตถ์-เด่นชัย 1 ครั้ง
สำหรับความคืบหน้าการซ่อมทางรถไฟนั้น นายสมชาย คงชื่นสิน ผู้อำนวยการศูนย์ภาคเหนือ ฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไมาตรวจเส้นทางรถไฟที่เกิดตกรางใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้สั่งการให้ทุกฝ่ายดำเนินงานเร่งแก้ไขซ่อมแซม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขบวนรถไฟตกรางบ่อยครั้ง ซึ่งในส่วนของฝ่ายการเดินรถศูนย์ภาคเหนือ ที่ดูแลเส้นทางรถไฟในสายเหนือ ได้ตั้งแผนดำเนินงานทันที โดยช่วงนี้จะให้คนงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย และคนงานของเอกชน ที่รับเหมาซ่อมแซมไม้หมอนรางรถไฟ เข้าไปเร่งซ่อมแซม จากสถานีรถไฟแม่ตาลน้อย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถึงสถานีรถไฟขุนตาล อ.แม่ทา จ.ลำพูน รวมถึงการซ่อมแซมไม้หมอนในอุโมงค์ถ้ำขุนตาลที่เคยเกิดเหตุตกรางด้วย
โดยการซ่อมแซมช่วงนี้จะยังคงนำไม้หมอนเก่าสภาพ 80% ขึ้นไป เข้าไปเปลี่ยนไม้หมอนที่ชำรุดทรุดโทรม และยังเสริมใต้รางรถไฟในช่วงทางโค้ง จุดตกรางบ่อยในระยะ 40 เซนติเมตรต่อ 1 ท่อนไม้หมอน พร้อมใช้ตัวยึดรางใส่เข้าไปอีกช่วงละ 1 เมตรต่อ 1 ตัวยึดราง
พร้อมกันนั้นทางฝ่ายการเดินรถศูนย์ภาคเหนือ ได้ออกหนังสือสั่งการให้ขบวนรถไฟทุกขบวนในสายเหนือ ที่จะวิ่งผ่านระยะเส้นทางดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงทางโค้งขึ้นและลงเขา ให้จำกัดความเร็วทุกขบวนไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ป้องกันการตกรางอีก
ส่วนการเริ่มเปลี่ยนไม้หมอนให้เป็นคอนกรีตขนาด 100 ปอนด์ ตามคำสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาแล้วช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 จะปิดเส้นทางตั้งแต่สถานีรถไฟนครลำปาง ไปจนถึงสถานีรถไฟนครเชียงใหม่ เพื่อทำการเปลี่ยนไม้หมอนเก่าทุกท่อนให้เป็นคอนกรีต โดยจะระดมคนงานเข้าไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้บริการ โดยเฉพาะการซื้อตั๋วเดินทางไว้ล่วงหน้า ต้องบริหารจัดการให้ประชาชนที่ซื้อตั๋วไปก่อน ได้เดินทางจนหมดในช่วง 1-2 เดือนนี้ ก่อนที่จะปิดเส้นทาง โดยให้ขบวนรถไฟวิ่งมาถึงแค่ จ.ลำปางเท่านั้น ซึ่งแนวทางนี้จะต้องมีหารือกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดินรถ ฝ่ายโยธา และฝ่ายจักรกล เพื่อความพร้อมที่จะดำเนินงานตามแผนที่ตั้งไว้
และ (หวังว่า) รถไฟสายเหนือ (คง) จะเลิกตกรางเสียที!!!