ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านใน 2 ตำบลของ อ.แก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เริ่มอ่อนล้ากับการเฝ้าโขลงช้างป่ากว่า 40 ตัว ที่ลงจากเขาแหลมไม่ให้ทำลายพืชผลการเกษตรนานกว่า 3 สัปดาห์ ขณะที่จังหวัดต่อสายตรงอธิบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาช้างป่าทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิต หวั่นชาวบ้านทนไม่ไหวทำร้ายช้างป่าจนตายได้
วันนี้ (4 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โขลงช้างป่า ในพื้นที่หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 10 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับชุดอนุรักษ์ช้างป่าที่ชาวบ้าน และจิตอาสาที่ได้จัดตั้งกันขึ้นเพื่อดูแลไม่ให้ช้างป่าเข้ามาในหมู่บ้าน และทำลายพืชผลทางการเกษตรจนได้รับความเสียหาย หลังชุดอนุรักษ์ช้างป่าได้เฝ้าระวัง และขับไล่โขลงช้างป่าที่ลงจากเขาแหลมกว่า 40 ตัว อย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่เริ่มออกอาการอ่อนล้าเพราะต้องสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเฝ้าระวังตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังพบว่าโขลงช้างป่ายังไม่ยอมกลับขึ้นเขา และยังลงจากเขาแหลมเร็วกว่าทุกปี สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำเริ่มหมด รวมถึงพื้นที่โป่งเทียมที่ชาวบ้าน จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักปฏิบัติธรรมที่ร่วมกันปลูกอาหารให้ช้างป่าเมื่อปีก่อนเจริญเติบโตไม่ทัน ทำให้โขลงช้างป่าต้องลงมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้านเพื่อความอยู่รอด
ส่วนในพื้นที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งช้างป่าได้เข้าทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิตเป็นรายที่ 5 นั้น แม้ทางจังหวัดจะได้ประกาศให้เป็นพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยอื่นๆ แต่ชาวบ้านก็ยังคงหวาดผวากับช้างป่าจนไม่กล้าที่จะออกไปกรีดยาง และทำสวนผลไม้เหมือนก่อน
โดยผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของจังหวัดจันทบุรีเองก็เริ่มมีความวิตกว่าหากชาวบ้านในพื้นที่ทนไม่ไหวก็อาจทำร้ายช้างป่าจนตายได้
ซึ่งในเบื้องต้น นายเกรียงเดช เข็มทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้โทรศัพท์สายตรงพูดคุยกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ไม่ว่าจะเป็นการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดทำคูดักช้าง รั้วไฟฟ้า หรือการนำช้างป่าเกเรออกนอกพื้นที่ และให้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านว่าต้องการอย่างไร
ทั้งนี้ อธิบดีฯ ยังรับปากว่าจะลงพื้นที่เพื่อร่วมประชุมกับชาวบ้าน และแก้ไขปัญหาให้ภายในสัปดาห์นี้
ด้านนายแกด จอกทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลขุนซ่อง กล่าวว่า โขลงช้างมีประชากรช้างเพิ่มมากขึ้นทุกปี และการดูแลของชุดอนุรักษ์ช้าง และจิตอาสาก็เริ่มที่จะอ่อนล้าลงทุกวัน ขณะที่ความเสียหายก็ขยายพื้นที่มากขึ้น รวมถึงชาวบ้านก็เริ่มที่จะหวาดกลัวแต่ยังถือว่าโชคดีที่ในวันนี้ยังไม่มีชาวบ้านถูกช้างป่าโขลงทำร้ายจนเสียชีวิต