อุบลราชธานี - ชาวสวนยางอุบลราชธานีประชุมสรุปไม่เคลื่อนไหว มองเงินกองทุนและการสร้างโรงงานรมควันยางพาราในพื้นที่ที่รัฐให้สร้างประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพยางพาราจนนำไปสู่การส่งยางพาราออกไปขายต่างประเทศได้ด้วยตนเอง สำหรับสมาชิกบางรายออกไปชุมนุมถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี อ.เมือง นายอดุลย์ โคตรพันธ์ รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และประธานเครือข่ายชาวสวนยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี เชิญตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรสวนยางจำนวน 35 กลุ่ม มีสมาชิกกว่า 3,000 ราย เข้ารับฟังคำชี้แจงยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้
ทั้งนี้สืบเนื่องจากที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานเข้าเจรจากับนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับปากจะทำการชดเชยปัจจัยการผลิตเป็นค่าปุ๋ยให้ชาวสวนยางรายละ 25 ไร่ พร้อมสนับสนุนก่อสร้างโรงงานอบยางพาราในพื้นที่ มอบเงินหมุนเวียนใช้เป็นกองทุน และเงินกู้ดอกเบี้ยถูกแก่สมาชิกชาวสวนยางพารา
ถือว่าการมีเงินกองทุนหมุนเวียนและการสร้างโรงงานรมควันยางพาราจะเกิดประโยชน์แก่ชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาคุณภาพยางพาราให้ดีขึ้นจนนำไปสู่การส่งออกยางพาราไปต่างประเทศได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐ ชาวสานยางพาราอุบลราชธานี ซึ่งมีการเตรียมกำลังคนไว้ประมาณ 1,000 ราย จะไม่ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.แน่นอนแล้ว
นายอดุลย์กล่าวต่อว่า สำหรับชาวสวนยางพาราบางจังหวัดยังจะไปชุมนุมประท้วงตามเดิม ก็ต้องถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ทำได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรด้านยางพาราครบวงจรภาคอีสาน และไม่ได้มีความแตกแยกในกลุ่มชาวสวนยาง เพียงอาจมีความเห็นไม่ตรงกันเพราะแต่ละพื้นที่มีปัจจัยด้านการผลิตไม่เหมือนกัน แต่สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี และหลายจังหวัดภาคอีสานยึดมติไม่ไปชุมนุมแล้ว
สำหรับพื้นที่ปลูกยางพาราของจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจำนวนกว่า 4 แสนไร่ จึงแจ้งให้ชาวสวนยางพาราที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรีบแจ้งขึ้นทะเบียน
ส่วนผู้เคยแจ้งไว้แล้วก็ให้ไปตรวจสอบอีกครั้งไม่ให้รายชื่อตกหล่น ซึ่งเงินชดเชยที่จะได้รับจากรัฐบาลในส่วนแรกคือ 10 ไร่ คาดจะได้ในเร็วๆ นี้ และอีก 15 ไร่จะมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.ในการประชุมวันที่ 3 ก.ย.นี้