xs
xsm
sm
md
lg

ราคายางตกต่ำ เกษตรกรศรีสะเกษหันเพาะเลี้ยงผีเสื้อขายสร้างรายได้งาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำสิงห์ ทองละมุน อายุ 30 ปี เกษตรกรสวนยาง ชาว อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ประกอบอาชีพเสริมเพาะเลี้ยงผีเสื้อขาย สร้างรายได้งาม เดือนละ 20,000 -30,000 บาท วันนี้  ( 29 ส.ค.)
ศรีสะเกษ - ยางพาราราคาตกต่ำหนัก เกษตรกรชาว อ.ขุนหาญ ศรีสะเกษ หันไปเพาะเลี้ยงผีเสื้อขาย สร้างรายได้งามเลี้ยงครอบครัวเดือนละ 20,000-30,000 บาท

วันนี้ (29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายบุญธรรม แสงแก้ว นายก อบต.ขุนหาญ ว่า ที่บ้านดู่ หมู่ที่ 2 ต.ขุนหาญ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ มีเกษตรกรประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงผีเสื้อขายและถือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ผีเสื้อเพียงแห่งเดียวของ อ.ขุนหาญ จึงเดินทางไปตรวจสอบบ้านดังกล่าว ซึ่งเป็นบ้านของ นายคำสิงห์ ทองละมุน อายุ 30 ปี เกษตรกรชาว อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ พบภายในบริเวณบ้านมีกรงตาข่ายรูปทรงสี่เหลี่ยม และมีผีเสื้อหลากสีสัน หลายสายพันธุ์ บินอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก

นายคำสิงห์เปิดเผยว่า ตนประกอบอาชีพปลูกยางพารา แต่ปี 2555 เป็นต้นมาประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง จึงหาแนวทางประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว จนกระทั่งมีแนวคิดนำความรู้ที่สั่งสมมากว่า 5 ปีเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงพันธุ์ผีเสื้อมาทดลองทำดู และเริ่มต้นเพาะพันธุ์ผีเสื้อเมื่อประมาณต้นปี 2556 โดยได้เลี้ยงผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ท้องถิ่น สายพันธุ์มะนาว สายพันธุ์เกล็ดมะม่วง สายพันธุ์หางติ่งนาเวง รวมประมาณ 20 สายพันธุ์

สำหรับตลาดที่ส่งไปขายเป็นหลักในปัจจุบันคือ ในเขตกรุงเทพฯ, จ.ภูเก็ต และกำลังขยายไปยังเกาะเสม็ด จ.ระยอง รวมทั้งส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งผีเสื้อที่ลูกค้าสั่งซื้อส่วนใหญ่จะนำไปปล่อยบริเวณสวนสาธารณะหรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสวยงามให้แก่ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยสามารถสร้างรายได้ให้ตนและครอบครัวเดือนละประมาณ 20,000-30,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการปลูกยางพาราที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนักอยู่ในขณะนี้

นายคำสิงห์กล่าวอีกว่า ส่วนเกษตรกรที่สนใจต้องการเพาะเลี้ยงผีเสื้อขายเป็นอาชีพต้องมีความรู้เรื่องเกี่ยวสายพันธุ์เป็นอย่างดี เนื่องจากหากไม่มีความรู้อาจต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งตนเป็นคนที่ชื่นชอบศึกษาสายพันธุ์ผีเสื้อต่างๆ มาแต่อดีตจึงไม่ใช่เรื่องยาก และในอนาคตตนจะทำเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้เยาวชนในพื้นที่ที่มีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับผีเสื้อได้มาศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนปัญญา เพราะผีเสื้อกำลังกลายเป็นแมลงที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน





กำลังโหลดความคิดเห็น