xs
xsm
sm
md
lg

ตร.โคราชระดมฝึกชุดควบคุมฝูงชน รับมือม็อบสวนยางปิด “ถ.มิตรภาพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ฝึกทบทวนหลักสูตรกองร้อยควบคุมฝูงชนเข้มแข็ง ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 3  ถ.สุรนารายณ์ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 28 ส.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ตร.โคราชระดมฝึกซ้อมกองร้อยควบคุมฝูงชน เตรียมพร้อมรับมือม็อบชาวสวนยางอีสานปิด ถ.มิตรภาพ 3 ก.ย.นี้ เผยเน้นฝึกยุทธวิธี เทคนิคควบคุมฝูงชนขั้นพื้นฐาน และนำแนวทางของยูเอ็นมาประยุกต์ใช้เพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ชี้ใช้มาตรการเบาไปหาหนัก ก่อนใช้แก๊สน้ำตา

วันนี้ (28 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 3 ถ.สุรนารายณ์ ต.จอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พ.ต.อ.บุญเลิศ ว่องวัจนะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) นครราชสีมา ในฐานะผู้ควบคุมกองร้อยควบคุมฝูงชน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการฝึกทบทวนหลักสูตรกองร้อยควบคุมฝูงชนเข้มแข็ง โดยมีกำลังพลกองร้อยควบคุมฝูงชน ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ารับการฝึกอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และฝึกยุทธวิธี ตลอดจนเทคนิคในการควบคุมฝูงชนขั้นพื้นฐานตามแนวทางของสหประชาชาติที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะการนัดชุมนุมใหญ่ของเครือข่ายชาวสวนยางภาคอีสานที่ถนนมิตรภาพ บริเวณทางแยกยกระดับสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย.นี้

พ.ต.อ.บุญเลิศเปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พบว่าการชุมนุมประท้วงมีลักษณะเป็นเครือข่ายองค์กร มีการพัฒนารูปแบบวิธีการโดยการใช้มวลชน เด็กและสตรีมากขึ้น ซึ่งการใช้กำลังควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักสากล จึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถให้มีความเข้าใจตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ 52) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

รวมทั้งปัจจุบันยังได้นำแนวทางการควบคุมฝูงชนของสหประชาชาติมาศึกษาและพัฒนาปรับปรุงเป็นหลักสูตรกองร้อยควบคุมฝูงชนขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการฝึกการควบคุมฝูงชนให้หน่วยงานต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้เริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ประกอบด้วย การเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ชุมนุม, การแสดงกำลัง อุปกรณ์ เช่น โล่ กระบอง, การจัดรูปขบวนเพื่อป้องกันการบุกรุกเข้าไปในสถานที่หวงห้าม, การใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น รถคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อให้ผู้ชุมนุมสลายตัว

“หากสถานการณ์มีความรุนแรงก็จะใช้วิธีการฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อรักษาพื้นที่ที่กำหนด ก่อนจะเข้าทำการจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ และสุดท้ายเป็นการส่งชุดมวลชนสัมพันธ์เข้าไปทำความเข้าใจ และให้ความช่วยเหลือตามระเบียบ” พ.ต.อ.บุญเลิศกล่าว






พ.ต.อ.บุญเลิศ ว่องวัจนะ รอง ผบก.ภ.จว. นครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น