อุตรดิตถ์ - ผู้การสั่งเตรียมพร้อมชุดควบคุมฝูงชน 3 กองร้อยรับมือชาวสวนยางนัดชุมนุมใหญ่ 3 ก.ย. ยันไม่ปล่อยให้ ตร.ตีชาวบ้านเหมือนเมืองแน่ แต่เปิดทางให้คนอุตรดิตถ์แจ้งความดำเนินคดีหากม็อบปิดถนน ด้าน ส.จ.ทองแสนขันจี้ “วราเทพ” ดูแลชาวสวน
วันนี้ (26 ส.ค.) พล.ต.ต.พิเชษฐ วัฒนลักษณ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) อุตรดิตถ์ กล่าวว่า กรณีองค์กรชาวสวนยางพารา 17 จังหวัดภาคเหนือราว 5,000 คน นัดหมายรวมตัวชุมนุม และปิดถนนสาย 11 หรือสายอุตรดิตถ์-พิษณุโลกที่ จ.อุตรดิตถ์ ในวันที่ 3 ก.ย. 56 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำนั้น ตอนนี้ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนของผู้ชุมนุมจะมากหรือน้อยกว่า 5,000 คน แต่ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยมีชุดควบคุมฝูงชนจำนวน 3 กองร้อยคอยดูแลอยู่ ไม่จำเป็นต้องขอกำลังสนับสนุนจากจังหวัดใกล้เคียง เพราะชุดควบคุมฝูงชนจำนวน 3 กองร้อยก็เคยออกปฏิบัติหน้าที่มาแล้วหลายครั้ง เชื่อมั่นว่ารับมือไหว
ผบก.ภ.จว.อุตรดิตถ์บอกว่า จะไม่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมกับชุดควบคุมฝูงชนตีกันอย่าง จ.นครศรีธรรมราชอย่างแน่นอน เพราะในวันที่ 3 ก.ย.นี้น่าจะเป็นการแสดงพลังหรือสัญลักษณ์เพื่อให้รัฐบาลออกมาช่วยเหลือดูแลปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำเท่านั้น และตำรวจคงต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกมากกว่าจะใช้ความรุนแรง คงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแน่นอน
“อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบการชุมนุมครั้งนี้ไม่เฉพาะกลุ่มผู้ปลูกยางอุตรดิตถ์เท่านั้น แต่มีหลายจังหวัด หากชาวอุตรดิตถ์เห็นว่าไม่ได้รับความสะดวกในการใช้รถยนต์ จะมีการดำเนินคดีก็เป็นสิทธิ์ของเขา ตำรวจก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องยึดตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน” พล.ต.ต.พิเชษฐกล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ เกื้อทอง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ เขต อ.ทองแสนขัน กล่าวว่า กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพารา ซึ่งดูแลโดยนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องให้การช่วยเหลือเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมให้ปลูกเพียงเพราะต้องการขายกล้ายางจากราคา 4 บาท เป็นกล้าละ 40 บาท แต่ไม่มีการหาตลาดรองรับ และทิศทางการตลาดก็ไม่มีความชัดเจนเช่นกัน
นอกจากนี้ยังถูกเอาเปรียบจากผู้รับซื้อ โดยการหักค่าเปอร์เซ็นต์ของเนื้อยางที่มากเกินไป ไม่ต่างไปจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีการทุจริตกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย