xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ยัน 4 ศพตายจากก๊าซรมควันเชื้อเห็ด แต่ไม่อันตรายต่อผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญฟันธง ผลการชันสูตรพลิกศพ 4 พี่น้องเสียชีวิตในโรงเพาะเห็ดเพราะได้รับควันพิษจนทำให้ขาดอากาศหายใจ แนะเกษตรกรหากจะเข้าไปในโรงเพาะเห็ดต้องเปิดโรงระบายอากาศไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง

จากกรณีพบศพนายสะท้อน ลาธุลี อายุ 42 ปี เจ้าของโรงเพาะเห็ดฟางบ้านเนินงาม หมู่ 8 ต.ยาง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี นางสมปอง เกษมณี อายุ 39 ปี น.ส.สุภาวิณี ลาธุลี อายุ 20 ปี และ ด.ช.รุ่งอรุณ เกษมณี อายุ 14 ปี นอนเสียชีวิตอยู่ในโรงเพาะเห็ด หลังบ้านเลขที่ 193 บ้านเนินงาม หมู่ 8 ที่คนตายทำการรมควัน เหตุเกิดวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค.) พญ.แสงดาว อุประ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร.ท.นพ.อนุพงศ์ สิริรุ่งเรือง นายแพทย์สำนักระบาดวิทยา นพ.ศักดิ์สิทธิ์ บุญลักษณ์ แพทย์นิติเวชวิทยาโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ แพทย์จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลอำเภอน้ำยืน ได้ประชุมสรุปความเห็นการชันสูตรพลิกศพ และรายงานการสอบสวนเบื้องต้นว่า หลังผ่าชันสูตรพลิกศพไม่พบบาดแผลจากการทำร้าย หรือถูกสัตว์มีพิษกัด หรือร่องรอยไฟไหม้จากไฟฟ้าดูด

นพ.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวว่า สาเหตุน่าจะมาจากขาดอากาศหายใจ เพราะสภาพแวดล้อมที่เกิดเหตุเป็นโรงเพาะเชื้อเห็ดฟาง เจ้าของได้รมควันเพาะเชื้อเห็ดตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม และผู้ตายเข้าไปในโรงเพาะเห็ดที่คลุมทับด้วยผ้าพลาสติก อาจไม่มีอากาศจนทำให้เสียชีวิต

ขณะที่ พญ.แสงดาวกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการเสียชีวิตจากการทำงานในที่อับอากาศ คล้ายกับกรณีที่เกิดในบ่อน้ำหรือไซโลข้าว แต่เหตุการณ์นี้เป็นการเสียชีวิตในโรงเพาะเห็ดที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติกทั้งหมด จึงเป็นสถานที่อับอากาศ มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าระดับปกติ (ระดับมาตรฐาน 19.5-23.5)

อีกทั้งผู้ตายนำมันสำปะหลัง รำข้าวอ่อน มูลสัตว์ที่เป็นอาหารของเห็ดมารมควันทำให้เกิดก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนเกิดภาวะขาดออกซิเจน (Asphyxiants) อากาศที่หายใจเข้าไปจึงมีความเข้มข้นของออกซิเจนน้อย ทำให้มีผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลางและระบบหัวใจ ทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะการขาดออกซิเจนนี้ไม่ส่งผลต่อเห็ดและผู้บริโภค แต่จะส่งผลต่อเกษตรกรที่เข้าไปทำงานในโรงเพาะเห็ด จึงไม่ควรเข้าไปในโรงเพาะเห็ดที่ปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเท โดยเฉพาะช่วงให้ไอน้ำ ลงหัวเชื้ออย่างน้อย 3-5 วัน และถ้ามีความจำเป็นต้องเข้าไปทำงานในโรงเพาะเห็ดช่วงดังกล่าวต้องเปิดโรงเพาะเห็ดให้มีการระบายอากาศไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงจึงจะเข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัย

กำลังโหลดความคิดเห็น