xs
xsm
sm
md
lg

โอทอปเหนือโดนเต็มๆ ค่าแรง 300 บาท ทำวัตถุดิบ-ค่าแรง-ค่าขนส่งพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงใหม่ - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร ม.แม่โจ้เผยผลสำรวจความเห็นกลุ่มโอทอปภาคเหนือ พบเกือบ 60% เจอผลกระทบค่าแรง 300 บาท ทำต้นทุนค่าวัตถุดิบ-แรงงาน-ขนส่งพุ่งพรวด ชี้กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มเจอหนักสุด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอปในหัวข้อ “ธุรกิจสินค้า OTOP ภาคเหนือ กับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ผ่าน www.maejopoll.mju.ac.th โดยระบุว่า จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 377 กลุ่ม ระหว่างวันที่ 1-29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในประเด็นความพร้อมด้านการแข่งขันเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี กลุ่ม OTOP ถึง 74.3% มีความพร้อมเพราะเห็นว่าสินค้ามีคุณภาพ และได้มาตรฐาน มีเพียง 25.7% ที่ยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากเห็นว่าผู้บริหารของกลุ่มยังไม่มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศเพียงพอ

รายงานยังระบุด้วยว่า กลุ่ม OTOP ที่มีความพร้อมมากที่สุดส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าประเภทศิลปะประดิษฐ์ และของที่ระลึก รองลงมาเป็นกลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เครื่องสำอางสมุนไพร ยาจากสมุนไพร สมุนไพรไล่ยุง

ส่วนกลุ่มที่มีความพร้อมน้อยที่สุด คือ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทอาหาร เช่น ผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้บริโภคสด หรือใช้เป็นวัตถุดิบ กลุ่มเครื่องดื่มทั้งที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์

เมื่อสอบถามถึงผลดีของ OTOP เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พบว่า 91.2% เห็นว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ 83.8% เห็นว่าสามารถขยายฐานการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มอาเซียนได้เพิ่มขึ้น ส่วน 82.5% เห็นว่าจะสามารถสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางได้

และเมื่อสอบถามถึงการเตรียมความพร้อมของธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่ 54.9% มีการศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ส่วน 27.3% มีการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศ เช่น กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ขณะที่ 17.8% มีการศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร

รายงานยังระบุถึงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันว่า 58.9% เห็นว่าได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือ ผลกระทบด้านค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจความเห็นอีก 41.1% มองว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของกลุ่มสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทอยู่แล้ว และมีรายได้เพียงพอต่อการจ้างแรงงาน

เมื่อแยกตามประเภทกลุ่มสินค้า พบว่าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 76.0% คือสินค้าประเภทเครื่องดื่ม รองลงมาคือกลุ่มอาหารได้รับผลกระทบ 64.9% ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคือกลุ่มศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก รองลงมาคือสมุนไพรที่ไม่ใช่อาการ

สำหรับความต้องการสนับสนุนจากภาครัฐในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี พบว่า 71.0% ต้องการให้รัฐพาไปศึกษาดูงานธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ส่วน 30.7% ต้องการให้รัฐจัดอบรมฝึกฝีมือพัฒนาแรงงาน และ 12.4% ต้องการให้รัฐจัดอบรมเรื่องความรู้ กฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการค้ากับประเทศในเออีซี
กำลังโหลดความคิดเห็น