เชียงราย - โครงการสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เสาไม้แกะสลัก 750 ต้น 750 ปีเมืองเชียงราย ปักธง “วัดฝั่งหมิ่น” เจ้าอาวาสให้ที่ 22 ไร่สร้าง ขณะท่องเที่ยวและกีฬาหนุนงบเบื้องต้นแล้ว
วันนี้ (5 ส.ค.) นายยุทธนา วงศ์ใหญ่ รองประธานมูลนิธิอุทยานประวัติศาสตร์เชียงราย และศิลปินจากคุ้มเมืองมางเชียงราย เปิดเผยถึงการผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์แกะเสาไม้เล่าเรื่องเมืองเชียงราย ที่กลุ่มศิลปินเชียงราย รวมถึงนายวิรุณ คำภิโล อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้พยายามดำเนินการมานานหลายปีว่า ล่าสุดได้กำหนดสถานที่จัดตั้งที่วัดฝั่งหมิ่น ต.ริมกก อ.เมือง เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางวัด โดยออกแบบให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ครบวงจร ในแบบแปลนมีทั้งพิพิธภัณฑ์ โบราณสถานจำลองทั่วเชียงราย ลานแสดงนิทรรศการแกะเสาไม้ หอประชุม นอกจากนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดได้ทุ่มงบประมาณ 14 ล้านบาทก่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ซึ่งจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้
โครงการนี้มีที่มาจากการที่เชียงรายมีศิลปินสาขาต่างๆ มากมาย และอยากสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ดู และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเคยมีแนวคิดจะสร้างเป็นเสาไม้สักที่แกะสลักเล่าเรื่องราวของเมืองเชียงราย ตั้งแต่ก่อตั้งยุคอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ จนถึงการสร้างบ้านแปงเมือง อาณาจักรล้านนา และยุคปัจจุบัน
ซึ่งเดิมคิดจะสร้างกันที่วัดงำเมือง เขตเทศบาลนครเชียงราย แต่เนื่องจากคับแคบเพราะอยู่กลางใจเมือง จึงได้ขยับขยายไปยังวัดฝั่งหมิ่น โดยได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดอย่างมาก
นายยุทธนากล่าวว่า สำหรับแนวทางการจัดตั้ง ณ สถานที่แห่งใหม่ 22 ไร่ยังคงยึดแบบแผนเดิม คือ มีเสาไม้แกะสลักเล่าเรื่องเมืองเชียงราย 750 ต้น เท่ากับการเฉลิมฉลองอายุเมืองเชียงรายครบ 750 ปี เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาและสถานที่ท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะ สามารถเที่ยวชมได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย และอยู่ติดตัวเมืองเชียงรายด้วย
ส่วนกิจกรรมภายในอุทยาน นอกจากจะมีการจัดแสดงเสาไม้แกะสลักแล้ว ยังมีลานแสดง หอประชุม อาคารพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร เพื่อให้มีความครบวงจร โดยที่ผ่านมาได้จัดสร้างพระบรมรูปจำลองพ่อขุนเม็งรายมหาราชจากสำริด ทองผสม เรซิน แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ ค่อนข้างใช้ทุนทรัพย์สูง การผลักดันจึงไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงยังต้องการรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยากให้เป็นวาระจังหวัดด้วย เพราะงบประมาณที่ใช้อาจมากถึงกว่า 400 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าเสาไม้ที่ต้องใช้ศิลปินที่มีความสามารถแกะสลักก็ต้องใช้ทุนทรัพย์สูงและอื่นๆ อีก ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นสถานที่ทรงคุณค่าของเมืองเชียงรายเป็นอย่างมาก