บุรีรัมย์ - แม่ค้าขายเครื่องสังฆภัณฑ์และเทียนพรรษาบุรีรัมย์ โวย “สมีคำ” ฉาวทำยอดขายตกวูบเกือบ 50% เหตุพุทธศาสนิกชนบางส่วนเสื่อมศรัทธาพระสงฆ์ ด้านการค้าภายในออกตรวจร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ ป้องกันฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์หมดอายุเสื่อมคุณภาพสอดไส้ขายในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (19 ก.ค.) นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ นำเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์หมดอายุ คุณภาพต่ำมาบรรจุถังสังฆทานจำหน่ายในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
จากการออกตรวจพบส่วนใหญ่ไม่ปิดป้ายแสดงราคา และจำหน่ายสินค้าเครื่องสังฆภัณฑ์ราคาสูงกว่าปกติ แต่ไม่พบการกระทำผิด ซึ่งได้มีการตักเตือนและให้ร้านแก้ไข
ขณะเดียวกัน พบว่าร้านค้าจำหน่ายสังฆทาน และเทียนพรรษาปีนี้มีการปรับราคาขึ้นเล็กน้อย โดยผู้ประกอบการอ้างว่าเป็นไปตามกลไกภาวะราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่บรรยากาศการเลือกซื้อ-ขายสังฆทาน และเทียนจำนำพรรษายังคงเงียบเหงา ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกระแสข่าวฉาวโฉ่ในวงการสงฆ์ของนายวิรพล สุขผล หรืออดีตพระวิรพล ฉัตติโก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจซบเซา ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนซื้อเครื่องสังฆภัณฑ์และเทียนพรรษามีปริมาณลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์
นางดรุณี นิกรสังพินิจ เจ้าของกิจการร้านดอกไม้สังฆภัณฑ์ “ออร์คิทต์” ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บอกว่า ในปีนี้จากกระแสข่าวของนายวิรพล สุขผล อดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือหลวงปู่เณรคำ ทำให้ยอดการจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์และเทียนพรรษามีปริมาณลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งพุทธศาสนิกชนบางส่วนหมดความศรัทธาพระสงฆ์จึงไม่ซื้อเครื่องสังฆภัณฑ์และเทียนพรรษาไปถวายวัดเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเมื่อถึงวันเข้าพรรษาจะมีพุทธศาสนิกชนมาซื้อเครื่องสังฆภัณฑ์และเทียนพรรษาไปถวายวัดเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ช่วงนี้ใกล้เทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมออกมาซื้อหาเครื่องสังฆทาน เทียนพรรษา เพื่อนำไปถวายทำบุญที่วัด ทางการค้าภายในจังหวัดฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราร้านสังฆภัณฑ์เพื่อป้องกันผู้ประกอบการลักลอบนำสินค้าหมดอายุ คุณภาพต่ำไม่ได้มาตรฐานมาบรรจุใส่เครื่องสังฆทานวางจำหน่ายแก่ประชาชนผู้บริโภคในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา หรือฉวยโอกาสจำหน่ายสูงเกินความเป็นจริงเอาเปรียบผู้บริโภค
ทั้งนี้ หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปิดป้ายแสดงราคารายการสินค้าที่นำมาบรรจุในชุดเครื่องสังฆทานจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากขายแพงเกินความเป็นจริงมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ หรือหมดอายุใส่สังฆทาน จึงขอแจ้งเตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภค และให้หมั่นตรวจสอบถังสังฆทานที่นำมาจำหน่ายแก่ประชาชนด้วย หากตรวจพบหรือมีผู้ร้องเรียนก็จะดำเนินคดีผู้ประกอบการทันที” นายสุทธิศักดิ์กล่าว