เลย - วัฒนธรรมจังหวัดเปิดโครงการถ่ายทอดอักษรธรรมให้เยาวชนและชาวบ้านใน ต.แสงภา อ.นาแห้ว หวังให้คนรุ่นใหม่สืบทอดภาษาบรรพบุรุษที่ใช้กันมานานร่วม 400 ปี ยอมรับยุคสมัยนี้อักษรธรรมใช้กันน้อย แม้แต่โรงเรียนวัดยังไม่สอน
วันนี้ (15 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัฒนธรรมจังหวัดเลยได้จัดโครงการถ่ายทอดอักษรธรรม ประจำปี 2556 ให้แก่นักเรียน และชาวบ้าน ต.แสงภา อ.นาแห้ว ซึ่งมีการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาร่วม 400 ปีแล้ว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดอักษรธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวอีสานให้เป็นที่แพร่หลายสืบไป
นายสัมฤทธิ์ สุภามา วัฒนธรรมจังหวัดเลย กล่าวว่า อักษรธรรม หมายถึงอักษรที่กลุ่มชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจดบันทึกไว้ ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า “อักษรตัวเมือง” หรือ “อักษรธรรม” หรือบางทีเรียกว่า “อักษรยวน” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกอักษรชนิดนี้ว่า “อักษรธรรมอีสาน” มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจากอักษรธรรมเหนือ แต่อาจเรียกสั้นๆ ว่าอักษรธรรมหรือหนังสือธรรม ที่ใช้บันทึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
เช่น พระไตรปิฎก คัมภีร์ ซึ่งถือว่าเป็นอักษรชั้นสูง อักษรศักดิ์สิทธิ์ ชาวอีสานรับเอาอักษรธรรมมาใช้ในวัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้อักษรธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่ในหมู่บ้านจะอ่านหนังสือได้แทบทุกคน เพราะทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมีวัด เด็กอายุประมาณ 10 ขวบพ่อแม่ก็จะให้บวชเณรเพื่อรับการศึกษาเบื้องต้น เรียนธรรมะ เรียนอ่าน และจาร เพราะคำสอนทางศาสนาต้องจารด้วยตัวธรรม
อักษรธรรมจึงกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งต่างไปจากภาคอื่นๆ ปัจจุบันมีผู้อ่านและเขียนอักษรธรรมได้น้อยมาก คงเหลือเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยศึกษาในวัดที่ยังคงอ่านและเขียนได้ เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาที่เด็กต้องศึกษาในสถานศึกษาที่ใช้อักษรไทย แม้กระทั่งการเรียนการสอนที่อยู่ในวัดก็ใช้อักษรไทยทั้งหมด
ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดอักษรธรรมให้เแพร่หลายสืบไป สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น