ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศิษย์ “หลวงปู่พุทธอิสระ” แจงเหตุเสือกัดผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดอ้อน้อย สาเหตุเกิดจากความประมาทที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่ได้สาหัสแต่อย่างใด และผู้ที่ถูกเสือกัดก็เป็นผู้ที่มาช่วยขายของให้แก่ทางวัดมานานร่วม 10 ปีแล้ว เผยหลังเกิดเหตุหลวงปู่เตรียมมอบเสือให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปดูแล ขณะที่เหยื่อสาวยอมรับเป็นเพราะตนประมาทเองที่เข้าไปในเขตหวงห้ามใกล้กับกรงเสือ พร้อมกราบขอขมา “หลวงปู่พุทธอิสระ” ที่ทำให้ท่านเป็นห่วง ไม่สบายใจ ยันเบาดเจ็บแค่กล้ามเนื้อฉีก และอักเสบเท่านั้น ไม่ได้สาหัสตามที่เป็นข่าว
วันนี้ (9 ก.ค.) น.ส.ผกาวดี แสนสุข อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 134 ถ.จรัญสนิทวงศ์ 45 แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ผู้ที่ไปปฏิบัติธรรมภายในวัดอ้อน้อยธรรมอิสระ หมู่ 11 ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และเป็นลูกศิษย์หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์เสือโคร่งที่อยู่ภายในวัดอ้อน้อยธรรมอิสระ กัดผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ความจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทของ น.ส.เบญจวรรณ แสงวิเชียร อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13 โชคชัย 4 ซอย 46 แขวงและเขตลาดพร้าว กทม. ผู้ที่ถูกเสือกัดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเกิดความชะล่าใจ และก็ไม่ได้มีอาการสาหัสตามที่มีการเสนอข่าวไปแต่อย่างใด เพียงแค่ได้รับบาดเจ็บที่แขนบริเวณที่ถูกเสือกัดเท่านั้น
น.ส.ผกาวดี เปิดเผยด้วยว่า ช่วงที่เกิดเหตุนั้นทุกคนกำลังปฏิบัติธรรมอยู่บนศาลา โดยนั่งฟังเทศน์หลวงปู่พุทธอิสระ ขณะที่ น.ส.เบญจวรรณ ซึ่งทำงาน และขายของช่วยทางวัดมานาน ได้เอาอาหารไปให้เสือซึ่งอยู่ในกรงใหญ่ด้านหลังศาลาปฏิบัติธรรมกรรมฐาน (ลานโพธิ์) โดยเอาหญ้าไปให้มันกิน ซึ่งปกติมันจะกินเนื้อไก่ และ น.ส.เบญจวรรณ คิดว่าเสือมันคงจะจำตัวเองได้เพราะช่วงที่มันยังเล็กอยู่ น.ส.เบญจวรรณ ก็เคยเล่นกับมัน
โดยระหว่างที่ น.ส.เบญจวรรณ เอาหญ้าไปให้มันตนเข้าใจว่าเสือมันคงจะตกใจ เพราะสิ่งที่มันเห็นในมือที่ น.ส.เบญจวรรณ เอาหญ้าไปให้มันนั้นมันเป็นเส้นๆ ไม่ใช่เนื้ออย่างที่มันเคยกิน และคิดว่าคงจะไปทำอะไรมัน โดยช่วงที่เอาหญ้าให้มันก็ยังไม่ได้เกิดเหตุอะไรขึ้น แต่พอ น.ส.เบญจวรรณ หันหลังกลับเดินออกมาเสือจึงเข้ากัดที่แขนของ น.ส.เบญจวรรณ โดยไม่ยอมปล่อยจนได้รับบาดเจ็บ
“หลังโดนเสือกัด น.ส.เบญจวรรณ ได้พยายามตะโกนเรียกให้หลวงปู่ช่วยด้วย ครั้งแรกเสือก็ยังไม่ปล่อย เรียกครั้งที่ 2 เสือก็ยังไม่ปล่อย แต่พอครั้งที่ 3 น.ส.เบญจวรรณ ก็ได้ตะโกนร้องให้หลวงปู่พุทธอิสระ ช่วยหนูด้วย เสือจึงปล่อย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทางวัดก็ได้ช่วยกันนำ น.ส.เบญจวรรณ ส่งโรงพยาบาลสนามจันทร์ อ.เมืองนครปฐม และได้ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลธนบุรี 2” น.ส.ผกาวดีกล่าว
น.ส.ผกาวดี กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดเหตุเพียงไม่นานก็มีนักข่าวเข้าไปทำข่าวกันเป็นจำนวนมาก แต่ไม่พบตัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ คือ น.ส.เบญจวรรณ ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลไปก่อนหน้านี้แล้ว และมีการนำเสนอข่าวกันไปต่างๆ นานาว่า ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พ.ต.อ.สมบัติ อ่อนสมบูรณ์ ผกก.สภ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ก็เดินทางเข้าไปตรวจสอบในที่เกิดเหตุ และผู้ที่บาดเจ็บก็ไม่ติดใจคิดที่จะเอาความกับทางวัด กับทางหลวงปู่พุทธอิสระ และทางวัด โดยหลวงปู่พุทธอิสระเอง ท่านก็บอกว่า พร้อมที่จะให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ น.ส.เบญจวรรณ อย่างเต็มที่
“ส่วนตัว น.ส.เบญจวรรณ เองก็ยอมรับว่าตัวเองนั้นคิดไม่ถึง เป็นเพราะความประมาทของตัวเอง และช่วงที่เกิดเหตุทุกคนที่มาทำบุญก็อยู่บนศาลาปฏิบัติธรรมกันอยู่ และก็ไม่มีใครรู้ด้วยว่า น.ส.เบญจวรรณ เข้าไปที่บริเวณกรงเสือตอนไหน ทั้งๆ ที่มีป้ายเขียนไว้ว่า เป็นเขตหวงห้ามอย่างชัดเจน ส่วนตัวของ น.ส.เบญจวรรณ นั้น ที่ผ่านมาก็ได้มาช่วยทางวัดหลายปีแล้ว คาดว่าน่าจะประมาณ 10 ปี โดยมาช่วยขายของให้แก่ทางวัด ทำหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์หอมจังให้แก่ผู้ที่มาทำบุญ” น.ส.ผกาวดีกล่าว
น.ส.ผกาวดี เปิดเผยต่อว่า สำหรับเสือที่อยู่ในวัดอ้อน้อยนั้นมีทั้งหมด 5 ตัว โดยเสือทั้ง 5 ตัวนี้ทางวัด โดยหลวงปู่ นำมาเลี้ยงไว้ตั้งแต่ปี 2546 ขณะที่ตัวยังเล็ก แต่ตนไม่รู้ว่าใครถวายให้ หรือได้มาอย่างไร โดยตอนแรกจะใส่ตะกร้าเลี้ยงไว้ เพราะตัวยังเล็ก น่ารัก และตนก็ยังเคยป้อนนมมัน แต่พอมันโตขึ้นมาหลวงปู่ ก็ย้ายมันไปไว้ที่กรงใหญ่ โดยจัดสถานที่ให้มันอยู่ และมีป้ายเขียนเป็นเขตหวงห้าม ซึ่งปัจจุบัน พระอธิการศิริชัย สิริโสภโณ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย เป้นผู้ดูแลอยู่ โดยทางวัดจะให้อาหารมันเป็นเนื้อไก่
โดยสัตว์ป่าทั้งหมดที่อยู่ในวัดอ้อน้อยธรรมอิสระ รวมทั้งเสือ 5 ตัวนี้ ทางวัดได้จดทะเบียนประชากรเสือต่อทางราชการอย่างถูกต้อง ตามกฎกระทรวงเมื่อปี 2546 ที่ประกาศให้ผู้ที่มีสัตว์ป่าคุ้มครอง แจ้งการครอบครองต่อทางราชการอย่างถูกต้อง
“แต่หลังจากเกิดเหตุแล้ว หลวงปู่พุทธอิสระ ได้บอกว่าจะมอบเสือให้แก่ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รับไปดูแลต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ทางวัดด้วยในการจัดหาอาหาร เช่น เนื้อไก่มันๆ กิน ส่วนน้องที่โดนเสือกัด ได้รับบาดเจ็บนั้น ทางวัดก็จะเป็นผู้แลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และน้องเองก็ไม่ได้คิดที่จะเอาความแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาน้องก็ได้มาทำงานช่วยงานวัดมาโดยตลอด โดยจะทำหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์หอมจัง และสินค้าราคาถูกช่วยเหลือคนยากจนให้แก่ผู้ที่มาทำบุญที่ทางวัดจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และอาทิตย์ที่ 3 ของทุกเดือน” น.ส.ผกาวดี กล่าว
ด้าน น.ส.เบญจวรรณ แสงวิเชียร ที่ถูกเสือกัด ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นพระความประมาท และชะล่าใจของตนที่เข้าไปใกล้กรงเสือ ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม โดยมีป้ายเขียนไว้ว่าเป็นเขตหวงห้าม และโอ่งน้ำขวางอยู่ แต่ก็ด้วยความประมาทและชะล่าใจเกินไปทำให้ตนเข้าไปให้บริเวณดังกล่าวจึงทำให้เกิดเหตุขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มีอาการสาหัสตามที่มีการเสนอข่าวแต่อย่างใด อาการส่วนอื่นก็ปกติดี ตอนนี้ตนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อาการก็ดีขึ้นแล้ว เป็นเพียงแค่กล้ามเนื้อฉีก และอักเสบเท่านั้น
“เหตุการณ์ครั้งนี้ลูกขอกราบขอขมาต่อหลวงปู่พุทธอิสระ ที่ทำให้หลวงปู่ต้องเป็นห่วง กังวลใจ และไม่สบายใจในอุบัติเหตุครั้งนี้ด้วย” น.ส.เบญจวรรณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายนพดล ฮับแสน นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมคณะลงพื้นที่วัดอ้อน้อย ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุ ทางวัดดูแลเสืออย่างใด และเสือที่มีอยู่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า เสือทั้ง 5 ตัว เลี้ยงมากว่า 10 ปี อยู่ในกรงเหล็กขนาดใหญ่ 2 กรง สูง 3 เมตร ด้านบนเปิดโล่ง รอบกรงมีโอ่งมังกร คว่ำไว้เป็นแถวยาวห่างออกจาก 6 แถว กันคนที่เดินผ่านไปมาไม่ให้เข้าไปใกล้กรงเสือ แต่ก็ไม่รู้ผู้ได้รับบาดเจ็บเข้าไปทำอะไร อาจจะต้องปีนขึ้นไปบนโอ่ง และยื่นมือเข้าไปเล่นกับเสือ จึงเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
แต่เสือทั้งหมดได้จดทะเบียนประชากรเสือต่อทางราชการอย่างถูกต้อง ตามกฎกระทรวงเมื่อปี 2546 ที่ประกาศให้ผู้ที่มีสัตว์ป่าคุ้มครอง แจ้งการครอบครองต่อทางราชการ แต่การดูแลของทางวัด จากสภาพกรงอาจจะไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือปลอดภัยนัก แต่มีการป้องกันในระดับหนึ่ง ห้ามบุคคลนอกเข้ามาในพื้นที่ มีป้ายประกาศชัดเจน และจากการพูดคุยกับทางวัด ได้แสดงความประสงค์จะให้ทางราชการนำเสือทั้งหมดไปดูแล เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติที่เหมาะสม คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะดำเนินการเคลื่อนย้ายเสือได้แล้วเสร็จ
รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของวัดอื่นๆ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ติดตาม ดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงสวัสดิภาพของเสือ ควบคุมจำนวนประชากรของเสือ ส่วนเสือที่วัดหลวงตามหาบัว ซึ่งมีประชาชนถามถึงเป็นจำนวนมาก ต้องอธิบายให้ทราบก่อนว่า เป็นเสือที่ทางราชการฝากเลี้ยงไว้ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความปลอดภัย และประชากรเสือ
คลิกเพื่อชมคลิป :