xs
xsm
sm
md
lg

สดับเสียงศิษย์หลวงตามหาบัว "ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ" กับตำแหน่งนายอำเภอบางละมุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ นายอำเภอบางละมุง
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สดับเสียงหัวใจ "ศักดิ์ชัย แต่งฮ่อ" นายอำเภอบางละมุง "ศิษย์" หลวงตามหาบัว กับความใฝ่ฝันถึงการมีส่วนร่วมของคนในเมืองใหญ่ เพราะเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน จะสร้างความตื่นตัวให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเป้าหมาย บอกชัด "เราต้องมีความกล้าในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าชาวบ้านยืนข้างหลังผม ผมลุยได้หมด" เผยให้ความสำคัญ 5 เรื่องหลัก คือ ความสะอาด ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วม และยึดหลักธรรมคำสอน

ทีมงาน "ผู้จัดการออนไลน์" ได้พูดคุยกับ "ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ" นายอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี เกี่ยวกับแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งนายอำเภอบางละมุงคนใหม่ ที่เพิ่งมารับตำแหน่งได้ 4 เดือนเศษ เปิดใจพูดคุยแบบเรียบง่ายว่า พื้นฐานในการทำงานของข้าราชการฝ่ายปกครอง คือ เมื่อไปประจำหรือทำงานอยู่ที่อำเภอไหน ก็อยากเห็นอำเภอนั้นเป็น "อำเภอน่าอยู่" ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานหลักของลูกราชสีห์

ทั้งนี้ การพัฒนาสู่การเป็นอำเภอน่าอยู่นั้น ได้ให้ความสำคัญใน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย "การรักษาความสะอาด" เพราะความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในเมืองที่เติบโต ควบคู่ไปกับการรรักษาสิ่งแวดล้อม

ตามมาด้วยเรื่อง "ความปลอดภัย" ซึ่งจะมองเรื่องความปลอดภัยเป็นหลายมิติทั้ง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยาเสพติด บ่อนการพนัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาอาชญากรรม รวมถึงความปลอดภัยด้านอุบัติเหตุ เพราะจากสถิติพบว่าอ.บางละมุง มีคนตายจากอุบัติเหตุทุกเดือน เดือนละหลายราย

ต่อมา คือ "พัฒนาคุณภาพชีวิต" ซึ่งอ.บางละมุง มีประชากรร 5-6 แสนคน เป็นประชากรตามทะเบียนราษฎรประมาณ 2.4 แสนคน ประชากรแฝงอีกเท่าตัว ประชาชนมีหลากหลายฐานะ จึงมองเรื่องการบูรณาการหน่วยงานท้องถิ่น ข้าราชการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยพัฒนาให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เรื่องที่ใฝ่ฝันมากที่สุดและอยากให้เกิดในทุกแห่งทั่วประเทศ คือ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" เพราะปัจจุบันยังมองว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนยังมีอยู่น้อย ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ไม่ให้บ้านเมืองและเราต้องเดือดร้อนไปด้วย

"ยกตัวอย่างการชุมนุมหน้ากากขาวและกลุ่มเสื้อแดง ที่หน้าศาลาว่าการเมืองพัทยา ชาวบ้านก็ออกมาช่วยส่งสัญญาณไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม เพราะไม่ต้องการเห็นความเดือดร้อนวุ่นวายของบ้านเมือง เมื่อชาวบ้านไม่เห็นด้วย ประกอบกับอยู่ในการดูแลของอำเภอ อำเภอก็ช่วยเหลือได้เต็มที่ เราต้องมีความกล้าในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าชาวบ้านยืนข้างหลังผมนะ ผมลุยได้หมด อย่าคิดแต่ว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์"

"ศักดิ์ชัย" กล่าวว่า หลังจากเดินทางมารับตำแหน่ง ทำให้ทราบว่ามีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการบุกรุกที่สาธารณะ ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงได้้้เพิ่มช่องทางให้ชาวบ้านเข้าถึง ด้วยการเปิดเว็ปไซต์ www.banglamungdistrict.go.th/ รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ โดยประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งเรื่องราว แนวคิด และวิธีการแก้ไขมาให้กับทางอำเภอได้ เพื่อทางอำเภอจะได้เข้าถึงความเดือดร้อนได้ง่าย เพราะชาวบ้านจะทราบปัญหามากกว่าเจ้าหน้าที่

มาถึงเรื่องหลักเรื่องสุดท้ายที่สำคัญมากเช่นกัน คือ "การปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และคำสอนของศาสนา" รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อปลูกฝังพื้นฐานจิตใจคนให้คิดดี ทำดี พูดดี ถ้าประชาชนให้ความร่วมมือ สิ่งเหล่านี้ก็จะหยั่งรากลงกลางใจ หากคนทำดีสังคมก็จะดี จะมีอะไรดีๆตามมาอีกมากมาย เพราะชาวบ้านมีพื้นฐานจิตใจที่ดี

"ผมเคยอยู่อุดรธานีมาหลายปี ได้ไปเห็นวัดหลวงตามหาบัว (วัดป่าบ้านตาด) ได้ใกล้ชิดศรัทธาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่าน เห็นแต่ความดีที่หลวงตาทำให้ชาวบ้าน ทำให้แผ่นดิน ก็ทำให้ผู้คนเคารพศรัทธา ไม่เห็นต้องสร้างอะไรใหญ่โต มีเพียงกุฏิไม้ธรรมดาๆ แต่เดี๋ยวนี้วัดต้องสร้างโน่นนี่ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะหาเงินจากไหนมาสร้างกันนักหนา น่าสงสารประเทศไทย ที่คนไม่ชอบนับถือคนดี แต่ไปนับถือคนรวย ถ้าเรามีความกล้าต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความกล้า กฎหมายก็มีความศักดิ์สิทธิ์ ทุกอย่างจะดีขึ้นและเป็นไปตามระบบ ในฐานะผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมว่าทุกคนต้องช่วยกันดูแลบ้านเมือง"

"ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ" เป็นชาวอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี รับราชการเมื่อปี 2529 ตำแหน่งปลัดอำเภอ ระดับ 3 อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี จากนั้นย้ายไปหลายอำเภอทั้งในจ.อุดรธานี และจ.อุบลราชธานี

ต่อมาปี 2555 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอบ้านดุง (อำนวยการสูง) จ.อุดรธานี ถึงต้นเดือนมีนาคม ปี 2556 ปัจจุบันดำรงนายอำเภอบางละมุง

ที่ผ่านมาได้รับรางวัลดีเด่นจากส่วนราชการมากมาย ทั้งข้าราชการกรมการปกครองดีเด่น 2544 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น 2547 ของจ.อุดรธานี รางวัลครุฑทองคำ ชนะเลิศการคัดเลือกคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) ที่มีผลงานดีเด่นในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา จ.อุดรธานี ปี 2554 และรางวัลการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและประสานเชื่อมโยงแผน และอื่นๆอีกมากมาย

ซึ่งคงเป็นเพราะ "การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน" จึงทำให้มีผลงานโดดเด่น และประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจไว้!!!



กำลังโหลดความคิดเห็น