เชียงราย - หน่วยรับซื้อข้าวโพด “สหฟาร์มเชียงราย” ลงทัณฑ์บนพื้นที่นับร้อยไร่ชายแดนเชียงแสน พร้อมวางแผนลงทุนทำโรงงานแปรรูป-ฟาร์ม-โรงงานผลิตอาหารสัตว์ครบวงจร พบหลังเปิดได้ปีเศษวันนี้เหงาสนิท งดรับซื้อข้าวโพดทั้งจากเกษตรกร-พ่อค้ากว่า 3 เดือนแล้ว
รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า หลังจากกลุ่มบริษัทในเครือสหฟาร์มลงทุนสร้างอาคารรับซื้อข้าวโพด ณ หน่วยรับซื้อเลขที่ 289 บ้านแม่เงิน ม.2 ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน ติดถนนเชียงแสน-เชียงของ บนเนื้อที่ร่วม 100 ไร่ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 55 ปีที่ผ่านมา และมีแผนจะขยายกิจการค้าไก่ครบวงจรเพื่อส่งไปจำหน่ายยังประเทศจีนนั้น ล่าสุดพบว่าหน่วยรับซื้อข้าวโพดดังกล่าวอยู่ในสภาพเงียบเหงา และประตูด้านหน้าถูกปิดเอาไว้ ไม่มีการซื้อขายข้าวโพดจากเกษตรกร หรือพ่อค้าคนกลางมานานกว่า 3 เดือนแล้ว
บริเวณที่ตั้งของสหฟาร์ม ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน ขณะนี้เงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด มีเพียงคนงานที่รับจ้างเฝ้าสถานที่อยู่เพียงไม่กี่คน ภายในสำนักงานไม่มีคนงาน หรือชาวบ้านนำผลิตผลทางการเกษตรเข้าไปติดต่อจำหน่ายเหมือนที่ผ่านมา
ด้านนายคำ จันใจ อายุ 59 ปี ชาวบ้านในพื้นที่คนหนึ่ง กล่าวว่า เดิมภายในบริษัทนี้มีคนงานที่เข้าไปรับจ้างขนข้าวโพด ต่อมาเมื่อหลายเดือนก่อนทางสหฟาร์มแจ้งว่าจะหยุดการรับซื้อที่ อ.เชียงแสน ส่วนคนงานสามารถย้ายไปอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ต่อได้ แต่คนงานส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางไปทำงานต่อที่ จ.เพชรบูรณ์ หันมาทำงานทำไร่ทำนาหรือรับจ้างในพื้นที่แทน ต่อมาทางสหฟาร์มก็ได้หยุดการรับซื้อจริงๆ
“ก็เสียดายเพราะเขาเป็นกิจการใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านคาดหวังว่าจะมารับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากชาวบ้านในราคาดีและจำนวนมากอย่างยั่งยืน”
ผู้ประกอบการค้าชายแดนคนหนึ่งที่ อ.เชียงแสนเปิดเผยว่า ตามปกติแล้วสหฟาร์มที่ อ.เชียงแสนจะไม่มีกิจการเกี่ยวกับเลี้ยงไก่หรือเล้าไก่ รวมทั้งไม่มีคนงานจำนวนมากๆ โดยจะรับซื้อข้าวโพดแห้งจากเกษตรกร และผู้ประกอบการเท่านั้นเพราะไม่มีสถานที่ตากกว้างขวาง หรือโรงอบไซโล จากนั้นจะนำใส่รถบรรทุกส่งไปยังแหล่งเลี้ยงไก่ เช่น จ.ลพบุรี ฯลฯ
โดยระยะแรกๆ ทางสหฟาร์มได้ออกมารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรในตลาดเดียวกับผู้ประกอบการรายเดิมๆ บางครั้งก็มีการแข่งขันกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นชาวบ้านก็หันมาขายข้าวโพดให้พวกตนแทนเพราะมีปัญหาเรื่องการชำระเงิน และการเข้มงวดจากการรับซื้อของสหฟาร์ม จากนั้นทางกลุ่มสหฟาร์มก็หันมาซื้อข้าวโพดจากผู้ประกอบการในพื้นที่แทน และก็รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาผลผลิตข้าวโพดสูงพอดี
ต่อมาหลังรัฐบาลประกาศนโยบายค่าแรง 300 บาท/วัน ประกอบกับปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทเริ่มมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง กระทั่งเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมาหลังจากพวกตนประสบปัญหาสภาพคล่องจากเรื่องเช็คอยู่พักหนึ่ง และได้รับเงินสดจากการขายข้าวโพดแล้ว ทางสหฟาร์มก็ไม่ได้ออกมารับซื้อข้าวโพดในตลาดท้องถิ่นเหมือนเดิมอีกเลย
“กิจการที่ ต.แม่เงิน อ.เชียงแสนมีคนงานไม่มาก เป็นจุดรับซื้อ และนำไปส่งที่ลพบุรีอย่างรวดเร็วเสียมากกว่า เท่าที่ผมไปค้าขายด้วยพบผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ราวๆ 10 คน ไม่มีไซโล และคนงานมากๆ เหมือนบางจังหวัด จึงคิดว่าการหยุดรับซื้ออาจเพราะปัญหาสภาพคล่องจากส่วนกลางมากกว่า”
ผู้ประกอบการค้าชายแดนรายนี้ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาไก่แช่แข็งของสหฟาร์มถือว่ามีลูกค้าในตลาดจีนมากกว่าผู้ค้าใหญ่รายอื่นของไทยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะที่จีนตอนใต้ที่สั่งซื้อไก่แช่แข็งผ่านท่าเรือเชียงแสนครั้งละมากๆ จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และในการเปิดกิจการสหฟาร์มที่ ต.แม่เงินก็เคยมีการประกาศว่าจะเน้นส่งไก่ที่จะมีการสร้างเล้าใหม่ในอนาคตส่งไปยังประเทศจีนเป็นหลัก ตนจึงไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น อาจเป็นเพราะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ และค่าเงินบาทแข็งที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการบางส่วนได้
อนึ่ง ในวันเปิดกิจการสหฟาร์มที่ ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ประธานบริษัทในเครือสหฟาร์ม ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีตั้งศาลพระพรหมและตั้งเสาเอก พร้อมระบุว่าได้รับการชักชวนจากนักธุรกิจไทยด้วยกันที่ชายแดน จ.เชียงราย ให้มาลงทุน และเห็นว่าโลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจึงต้องผลิตไก่เพื่อจำหน่าย โดยมีหลายประเทศสั่งซื้อ เช่น จีน มาเลเซีย ฯลฯ
สำหรับสหฟาร์มที่เชียงรายตั้งเป้าผลิตไก่ให้ได้วันละ 200,000 ตัว เบื้องต้นทางประเทศมาเลเซียได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว 7 ปี และยังตั้งเป้าจะส่งไปจำหน่ายยังจีนตอนใต้ผ่านทางเรือแม่น้ำโขง รถยนต์ทางถนนอาร์สามเอ ไทย-สปป.ลาว-คุนหมิง จีนตอนใต้ โดยวางแผนจะไปตั้งโรงงานแปรรูปไก่แช่แข็ง และฟาร์มเลี้ยงไก่ที่บ้านครึ่งใต้ ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย บนเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ หลังจากรวบรวมที่ดินได้แล้วประมาณ 5,000 ไร่ และในอนาคตยังจะมีการก่อตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ควบคู่กันไปโดยไม่ต้องส่งไปยังจังหวัดอื่นด้วย