xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเปิดลานวัดเจดีย์หลวง เชียงแสน ประชัน “กลองหลวงโบราณ” ครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ภาครัฐ-เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมืองเชียงแสน จับมือเปิดลานวัดเจดีย์หลวง แข่งขัน “ตีกลองหลวงโบราณ” ครั้งยิ่งใหญ่ ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปลาย ก.ค.นี้

วันนี้ (30 มิ.ย.) นายวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย นายชยกฤษณ์ นิสสัยสุข นายศรีวงค์ ทาลังกา ประธานชมรมกลองยาววัดเจดีย์หลวง นายวชิระ รัศมีจันทร์ ผู้บริหารโครงการโขงวิวพลาซ่า อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ร่วมข่าวการจัดประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี 2556 วันที่ 28 กรกฎาคม ณ วัดเจดีย์หลวง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุเจดีย์หลวง

โดยกิจกรรมที่โดดเด่น คือ การจัดประกวดกลองหลวงสิบสองราศี เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวเชียงแสน ที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมืองเชียงแสน แต่ปัจจุบันหาชมได้ยาก เพราะผู้ที่สามารถตีกลองหลวงได้เหลือเพียงคนรุ่นเฒ่าคนแก่ อีกทั้งมีผู้สืบทอดน้อยคน

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า เมืองเชียงแสนมีอายุคร่วม 1,500 ปี ปัจจุบันยังคงเหลือร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง สำหรับกลองสิบสองราศี ก็ถือเป็นหนึ่งในประเพณีที่บ่งบอกถึงอายุที่ยาวนานของเมือง และประเพณีวัฒนธรรมที่คนเชียงแสนได้ปฏิบัติสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ทางอำเภอจึงร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาอีกครั้งในรูปแบบของการจัดประกวด เพื่อให้มีเสียงดังกระหึ่มไปทั่วเมือง

นายชยกฤษณ์ กล่าวว่า ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียนเพื่อนำมาหลอมเป็นเทียนเล่มใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการเผยแพร่ และสืบสานประเพณีล้านนา โดยเฉพาะกลองหลวง เพราะปัจจุบันมีกลองหลวงโบราณที่ตั้งอยู่ตามวัดทั่วเมืองเชียงแสนอยู่แล้ว จะได้นำมาชุมนุมกันโดยพร้อมเพรียง เพื่อร่วมประกวดและตีกลองที่แสดงถึงความสามัคคีในหมู่คณะ และถวายเป็นพุทธบูชาต่อไป

ด้านนายศรีวงศ์ กล่าวว่า ชาวเชียงแสนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองประวัติศาสตร์ปัจจุบัน เป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากนครลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เมื่อปี 2424 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมาตั้งรกรากก็มีการนำขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมจากถิ่นที่อยู่เดิมมาถือปฏิบัติด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กลองหลวง ซึ่งมีความโดดเด่น เพราะเป็นกลองที่ต้องใช้ล้อเกวียนในการเคลื่อนย้าย รวมทั้งการตีกลองหลวงไม่ได้ตีเพียงแค่กลองใบใหญ่เท่านั้น ยังมีการตีกลองเล็กเรียกว่า “ตะโล้ดโป๊ด” ซึ่งเป็นกลอง 2 หน้า สำหรับตีสอดแทรก ฉาบ และฆ้องโหม่งที่มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ 2-9 ใบ โดยจะคอยกำหนดจังหวะ และบรรเลงร่วมกันอย่างไพเราะ

ซึ่งตามประเพณีนิยมนั้น การตีกลองลักษณะนี้จะใช้นำเข้าขบวนแห่ เช่น สงกรานต์ สรงน้ำพระธาตุ ตานก๋วยสลาก แห่เทียนเข้าพรรษา หรืองานบุญต่างๆ ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น