เชียงราย - แกนนำสมาคมเกษตรกรเชียงรายฝ่าคอขอฝ่ายปกครองจัดชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอพาน เรียกร้อง “รัฐบาลปู” จำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นเหมือนเดิม แม้มวลชนถูกสกัดจนคนร่วมชุมนุมไม่กี่คน จวกพรรคเพื่อไทย “กบฏต่อเกษตรกรชาวนา” ลดราคาจำนำทำชาวนาตายอย่างเขียด
วันนี้ (25 มิ.ย.) กลุ่มแกนนำเกษตรกรจากสมาคมเกษตรกร จ.เชียงราย ยังคงเดินทางไปจัดกิจกรรมชุมนุมที่ลานหน้าที่ว่าการ อ.พาน เพื่อยื่นหนังสือผ่านอำเภอไปยังจังหวัด และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ขอให้มีการพิจารณารับจำนำข้าวจากชาวบ้านกลับไปเป็นตันละ 15,000 บาทเหมือนเดิม แม้ว่าทางฝ่ายปกครองในแต่ละพื้นที่จะพยายามติดต่อแกนนำชาวนาหลายคน รวมทั้งจัดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้ในเรื่องการรับจำนำข้าวในเขต อ.เมือง จนทำให้มีมวลชนไปร่วมไม่กี่คน แต่กลุ่มแกนนำยังคงปราศรัยและติดป้ายข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เช่น หมดกำกึ๊ดแล้วกะมาลดราคาข้าว, ชาวนาตายแน่ถ้าราคาข้าวลดลง ฯลฯ
จากนั้นได้ทำหนังสือยื่นผ่านนายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ นายอำเภอพาน เสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการปรบลดราคารับจำนำข้าว เนื่องจากต้นทุนด้านต่างๆ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ค่าแรง ฯลฯ สูงขึ้น และไม่ได้ปรับลดลงเหมือนราคารับจำนำ โดยให้เริ่มพิจารณาทบทวนคงราคาเดิมของปี 2556 เอาไว้ด้วย
นายสุรเชษฐ์ วรพิทย์เบญจา รองประธานอาสาสมัครเกษตรกรหมู่บ้าน (อกม.) จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยหาเสียงว่าจะจำนำข้าวราคาตันละ 15,000 บาทมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าไม่ทราบเหตุใดจึงไขว้เขวและปรับราคารับจำนำอย่างกะทันหันอย่างนี้ ทำให้เกษตรกรตายอย่างเขียด เพราะเดิมราคาไม่ได้ถึงตันละ 15,000 บาท เมื่อจำนำ 15,000 บาททำให้เกษตรกรพอปรับตัวกันได้ มีรายได้มากขึ้นแม้จะไม่ได้ราคาเต็มเพราะมักจะถูกโรงสีหักค่าความชื้นจนได้ตันละ 10,000 บาท แต่ก็ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาทำนาและกลับคืนชนบทกันมากขึ้น
แต่เมื่อลดราคารับจำนำลงกะทันหันสวนทางกับที่หาเสียงไว้ จึงถือว่าเป็นกบฏต่อเกษตรกร ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ที่เคยกลับไปทำนาหันหน้าสู่เมืองใหญ่ จนเป็นปัญหาสังคมอีก
“ผมเคยทดลองนำข้าวแห้งที่ตากแล้วไปจำนำกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่าได้ราคาไม่ถึง 15,000 บาท อ้างว่ามีความชื้นอยู่ซึ่งน่าแปลกใจอย่างมาก จึงเรียกร้องให้มีการเพิ่มเติมราคารับจำนำเพื่อความอยู่รอดของชาวนาด้วย”
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ตอนนี้กลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มใน จ.เชียงรายไม่มีการระดมมวลชนออกไปชุมนุมกันได้ครั้งละมากๆ เพราะรอฟังข่าวจากการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ และฝ่ายปกครองได้เข้าไปเจรจากับแกนนำในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง