พระนครศรีอยุธยา - “วราเทพ รัตนากร” รมว.สำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หารือและติดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกใน 4 จังหวัด
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น และเกษตรกรกว่า 100 คนเข้าร่วมประชุม
การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาครั้งนี้ เพื่อติดตามการดำเนินโครงการรับฟังปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะของส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 มิถุนายนที่จะถึงนี้
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม จากที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จึงใช้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการหารือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนมากจังหวัดหนึ่ง โดยได้เชิญตัวแทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการในพื้นที่ใกล้เคียงทั้ง 4 จังหวัด โดยได้รับข้อมูลต่างๆ สอดคล้องกับข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณ ซึ่งมีหลายฝ่ายมองว่ามีการใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือมีผลการขาดทุนสูง
จึงขอเน้นย้ำว่าโครงการฯ ดังกล่าวเป็นโครงการที่ไม่แสวงหากำไร หรือเพื่อให้ได้กำไร แต่จะเน้นถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และประโยชน์ที่รัฐบาลจะได้รับด้วย โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางจะมี 2 ฤดูกาล จะแตกต่างกับพี่น้องเกษตรกรชาวนาในภาคอีสาน ที่ส่วนใหญ่จะใช้สิทธิเพียงครั้งเดียว คือ การรับจำนำข้าวหอมมะลิ จึงคิดว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้มีการปรับประสิทธิภาพในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงความโปร่งใส หรือทำอย่างไรจะหาแนวทางลดภาระให้รัฐบาลใช้งบประมาณลดน้อยลง
การประชุมในวันนี้จะนำไปประมวลให้แก่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. เพื่อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา หลังจากมีการประชุมในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนนี้ เพื่อให้มีข้อสรุปเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
สำหรับข้อมูลตัวเลขที่มีการเปิดเผย และกล่าวหาว่าใช้เงินจำนวนมากกว่า 2 แสนล้านบาท นายวราเทพ รัตนากร กล่าวว่า เป็นเรื่องของการพูดตัวเลขที่อยู่บนฐานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเรื่องวัน เวลา หรือการคำนวณ หรือการคิด ซึ่งจะต้องมีข้อสรุปทั้งในส่วนของราชการเสนอ เช่น กระทรวงพาณิชย์ หรือคณะอนุกรรมการปิดบัญชี เมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำไปสู่การตัดสินใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจน
โดยเฉพาะตัวเลขในปี 2554/2555 มี 2 ส่วนคือ กระทรวงพาณิชย์ และคณะอนุกรรมการปิดบัญชี มีการคำนวณที่แตกต่างกันในเรื่องของการขาดทุน ทั้งจากราคาสินค้าคงเหลือหรือสต๊อกข้าวที่อยู่ในมือของรัฐบาลว่าจะคิดราคาใด แต่ในปี 2555/2556 ที่กำลังดำเนินการอยู่ ตัวเลขคณะอนุกรรมการปิดบัญชีอยู่ 9.9 ล้านตัน ที่เป็นข้าวเปลือกที่เข้าโครงการ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่สรุป หรือข้อสังเกตที่เป็นนัยสำคัญคือ ผลการขาดทุน 8 หมื่นล้านบาท เป็นการคิดคำนวณข้าวสาร ถ้าคิดสัดส่วนของการแปรสภาพข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสารอยู่ที่ร้อยละ 60 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วนอีกครั้ง
“ถ้าข้าวสารที่แปรสภาพจาก 9.9 ล้านตันไปอยู่ที่ใด หรือยังไม่ได้ลงบัญชี มันจะทำให้ผลการขาดทุนใน 2555/56 จำนวน 8 หมื่นล้านบาทลดไปทันที ตัวเลขที่บอกว่าขาดทุนบัญชีที่คณะอนุกรรมการฯ ปิดบัญชีกว่า 2 แสนล้านบาทจะลดลง”